หน้าแรก Voice TV อังคารหน้า นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามการช่วยเหลือน้ำท่วมของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ย้ำภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก

อังคารหน้า นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามการช่วยเหลือน้ำท่วมของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ย้ำภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก

39
0
อังคารหน้า-นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามการช่วยเหลือน้ำท่วมของ-ศปชและ-ศปช.ส่วนหน้า-ย้ำภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก
อังคารหน้า นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามการช่วยเหลือน้ำท่วมของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ย้ำภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก

นายกฯแพทองธาร เตรียมนั่งหัวโต๊ะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือน้ำท่วมของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า วันอังคารหน้า (15 ต.ค.2567) ด้าน ศปช.เร่งฟื้นฟูพื้นที่และเยียวยาประชาชนต่อเนื่อง ย้ำภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำไหลหลาก ดินถล่ม

วันนี้  11 ตุลาคม 2567  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์   โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 15 ตุลาคมนี้ เวลา 15.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อติดตามและรับฟังความคืบหน้าการปฏิบัติงานของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ในการแก้ปัญหาสถานการณ์อุทกภัย การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และอุปสรรคในการทำงาน

“นายกฯ เป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้มาก ไม่ว่าจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ก็ได้ติดตามการทำงานของ รมต.และเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งส่งกำลังใจฝากถึงผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ และในวันอังคารหน้า นายกฯก็จะรับฟังความคืบหน้าการทำงานของ ศปช.และศปช.ส่วนหน้า รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ส่วนใหญ่คลี่คลายแล้ว แต่ น.ส.ธีรรัตน์  สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า และพล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ยังปฏิบัติงานดูแลประชาชนอยู่ในพื้นที่อุทกภัย โดยวันนี้ (11 ต.ค.) น.ส.ธีรรัตน์ ลงพื้นที่บ้านห้วยทรายขาว ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย มอบถุงยังชีพ 110 ชุด เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง 2 เครื่อง และมอบทุนการศึกษา จำนวน 29 ทุนๆละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 29,000 บาท ยืนยันหลังเหตุการณ์อุทกภัย รัฐบาลดูแลประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือต่อไป

“ศปช.และศปช.ส่วนหน้า ยังติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ วันนี้ ประธาน ศปช.ส่วนหน้า ได้รับมอบหมายจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯและนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. ให้มาดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะหลังน้ำลด นอกจากเยียวยาจิตใจประชาชนและพื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาเหมือนเดิมแล้ว ยังต้องเร่งเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือด้วย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสำรวจ หลังปรับหลักเกณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท และค่าช่วยล้างดินโคลนบ้านน้ำท่วม หลังละ 10,000 บาท ขอให้ทุกคนมีกำลังใจ” นายจิรายุ กล่าว

สำหรับภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ นายจิรายุ เปิดเผยว่า ที่จ.เชียงราย อยู่ระหว่างการฟื้นฟูและกู้พื้นที่หลังน้ำลด เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่จ.เชียงใหม่ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ต.หนองแฝก อ.สารภี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ท้ายน้ำ ทำให้มีน้ำขังนานกว่าพื้นที่อื่น หลายหน่วยงานเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว ขณะเดียวกันก็เดินหน้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด ส่วนที่จ.ลำพูน ขณะนี้มีน้ำท่วมขังรอการระบาย บริเวณบ้านหลุก หมู่ที่ 8 (หลังสวนกาญจนาภิเษกฯ) ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน ซึ่งชลประทานจ.ลำพูน เพิ่มเครื่องสูบน้ำระบายด้านท้ายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง ที่ยังสามารถรองรับการระบายจากพื้นที่ท่วมขังได้

ส่วนพื้นที่ภาคใต้ นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า ในระยะนี้ ต้องเฝ้าระวัง หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับหลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ซึ่งในหลายจังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยนายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้ทุกหน่วยบูรณการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ทั้งการตั้งรับการบริหารสถานการณ์ และเตรียมพร้อมศูนย์อพยพ-จุดปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง เช่นเดียวกับที่จ.ตรังเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ทั้งแม่น้ำตรัง คลองปะเหลียน คลองนางน้อย พื้นที่เสี่ยงใน 10  อำเภอ พื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดและหน่วยงานราชการต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่