วันนี้ (17 ต.ค.67) น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าวกรณี คดีตากใบ ซึ่งนับจากนี้อีก 8 วันคดีจะหมดอายุความ แต่จำเลยและผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับยังไม่สามารถติดตามตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
กรรมาธิการทั้งที่เป็นนักวิชาการตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ และ สส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีความกังวลตรงกัน ว่า คดีนี้อาจกลายเป็นหมุดหมายสำคัญหากคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. หากไม่สามารถนำตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
อ่านข่าว : ศาลไม่จำหน่าย “คดีตากใบ” ขีดเส้นตาย “7 ผู้ต้องหา”
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการสะดวก การเจรจาสร้างสันติภาพที่มาเลเซีย ซึ่งได้แจ้งว่าทางกลุ่มประเทศ องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC รวมถึงนานาชาติให้ความสำคัญจับตามองคดีตากใบ ซึ่งคดีมีแนวโน้มสูงว่าจะหมดอายุความโดยไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดผู้ที่ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการได้
ทางกรรมาธิการจึงมีมติเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือในวันพฤหัสที่ 24 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นเวลา 1 วันก่อนที่คดีจะหมดอายุความลง เพื่อหารือร่วมกันว่า หากคดีหมดอายุความลงจะมีการรับมือกับสถานการณ์อย่างไร ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือฉกฉวยนำเรื่องนี้ไปอ้างในการก่อเหตุความรุนแรง เพื่อหาวิธีการรับมือที่ดีที่สุด การประคับประคองบรรยากาศในการเจรจาสันติภาพ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้
กรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้จึงมีมติเชิญ 3 ท่าน มาร่วมหารือในวันที่ 24 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 (มทภ.4) หารือร่วมกับกรรมาธิการ คาดหวังว่า จะเป็นการมองไปข้างหน้าไม่ใช่พูดถึงคดีความ
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวถึงการลาออก จากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะจำเลยในคดีตากใบ ซึ่งสถานะจำเลยยังคงอยู่ และเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกออกหมายจับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
ส่วนข้อคิดเห็นว่าคดีตากใบได้รับการเยียวยาและควรที่จะจบได้แล้วนั้น การเยียวยาเป็นเรื่องที่ดีเป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การรับเงินเยียวยานั้นเป็นคนละเรื่องกับการดำเนินการทางอาญา ซึ่งในคดีตากใบไม่มีญาติพี่น้องคนใดที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วเซ็นเอกสารยินยอมว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญา
การจ่ายเงินเยียวยาไม่ได้หมายความว่านำมาซึ่งการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ ไม่ได้หมายหมายความว่ารับเงินแล้วจบ ถ้ารับเงินแล้วจบดิฉันคิดว่าต้องกลับมาตั้งคำถามกับคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงว่าคดีเสื้อแดงรับเงินไปแล้วก็ต้องจบเหมือนกันหรือไม่
ในฐานะนักการเมืองมองว่า การเตรียมรับมือกับคดีตากใบ ไม่ต้องการให้คำนึงถึงเรื่องคะแนนเสียงในพื้นที่ แต่ทุกพรรคการเมืองมีหน้าที่รับใช้ประชาชนไม่ว่าอยู่พรรคการเมืองใด โดยเชื่อว่า ประชาชนทั้งประเทศเห็นตรงกันว่าผู้เสียชีวิตไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ประมาท และการสลายการชุมนุมที่ใช้อาวุธหนัก หน้าที่ของรัฐบาลคือทำให้ประชาชนกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล ซึ่งเป็นรากฐานนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้
อ่านข่าว : “พล.อ.พิศาล” ผู้ต้องหาคดีตากใบ ลาออก สส.เพื่อไทยแล้ว
ศาลไม่จำหน่าย “คดีตากใบ” ขีดเส้นตาย “7 ผู้ต้องหา”
ญาติ “คดีตากใบ” หวังทวงคืนความยุติธรรม จนลมหายใจสุดท้าย