‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รองนายกฯและ รมว.ดีอี เผยสถิตปิดบัญชีม้าแล้วกว่า 1.1 ล้านบัญชี ซิมผีกว่า 2.7 ล้านหมายเลข ส่งผล ก.ย.67 ความเสียหายลดลงกว่า 1,500 ล้านบาท
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่มีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายประเสริฐ เปิดเผยว่าในการประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 9 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้
1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนกันยายน 2567 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
– การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท ก.ย.67 มีจำนวน 2,860 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.67 ที่มีจำนวน 1,945 ราย
– การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ก.ย.67 มีจำนวน 972 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.67 ที่มีจำนวน 732 ราย
– การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า ก.ย.67 มีจำนวน 497 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.67 ที่มีจำนวน 122 ราย
2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน
กระทรวงดีอี ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ต.ค.66 – 30 ก.ย.67 (ระยะเวลา 12 เดือน)
1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 150,425 รายการ เพิ่มขึ้น 8.51 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566
2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 62,213 รายการ เพิ่มขึ้น 30.22 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566
3) ปิดกั้น Line ID ที่เกี่ยวข้องกับการพนันแล้ว จำนวน 2,898 รายการ
3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานถึง 17 ต.ค.67 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,100,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 559,843 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 324,192 บัญชี
4. การแก้ปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล
จากการเร่งปิดบัญชี และจับกุมบัญชีม้าอย่างเข้มข้น คนร้ายจึงใช้วิธีจดทะเบียนนิติบุคคลและทำการเปิดบัญชีเพื่อใช้ทำผิดกฎหมาย โดยคณะกรรมการฯ ได้ขอให้ กระทรวงพาณิชย์ ช่วยเร่งเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบกรรมการที่มีชื่อในนิติบุคคลว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือไม่
5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking
ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 15 ต.ค.67 มีดังนี้
– การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.7 ล้านเลขหมาย
– การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 101,117 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 100,699 เลขหมาย
– มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking โดยดำเนินการตรวจสอบข้อมูล Cleansing Mobile Banking จำนวน 120.3 ล้านบัญชี มีรายละเอียด ดังนี้
-กลุ่มหมายเลขบัตรประชาชน ตรงกันกับเบอร์มือถือและบัญชี Mobile Banking มีจำนวน 70.0 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 58
-กลุ่มหมายเลขบัตรประชาชน ไม่ตรงกันกับเบอร์มือถือและบัญชี Mobile Banking มีจำนวน 28.6 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 24
-กลุ่มที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่พบฐานข้อมูล มีจำนวน 21.7 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ18
6. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักงาน กสทช. แจ้งดำเนินการรื้อถอนเสาสัญญาณ (สถานี) ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ตาก สระแก้ว จันทบุรี ระนอง บุรีรัมย์ สุรินทร์ รวม 393 สถานี คิดเป็น 100 %
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงก์ โดยใช้แนวทางการ Cleansing Sender Name โดย Sender Name ที่ประสงค์ SMS แนบลิงก์ จะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการทุกครั้ง โดยต้องระบุรายละเอียดของข้อความและลิงก์ก่อนส่ง SMS และผู้ให้บริการต้องตรวจสอบข้อความและลิงก์ทุกครั้ง ก่อนส่ง SMS ให้กับผู้รับ
7. มาตรการการป้องกันการโทรหลอกลวง ภายใต้โครงการ DE-fence platform
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสายเรียกเข้า และ SMS ที่มีลักษณะก่อกวน หรือหลอกลวงของมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในมูลค่าที่สูงมาก พร้อมทั้งการที่คนร้ายใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวง ดีอี จึงได้มีการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชนก่อนจะรับสาย ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้าและข้อความสั้น ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลว่า สายเรียกเข้าเป็นเบอร์คนร้ายโทร หรือ เบอร์ต้องสงสัย เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาการโทรหลอกลวง
8.การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ต.ค.67 นั้น พบว่าได้รับความร่วมมือและการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และประชาชนผู้บริโภค โดยสามารถป้องกันปัญหาการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่สั่ง หรือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพได้ และพบว่ามีสถิติการร้องเรียนเรื่องได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งลดลงร้อยละ 10 จากก่อนหน้านี้
9. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมด้านข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ AOC 1441 และการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ พร้อมกับการบูรณาการ วิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ จัดทำสถิติ และประมวลผลข้อมูลการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ ผลสำเร็จการดำเนินการมาตรการ ปัญหา อุปสรรค และนำไปสู่การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพเป็นไปตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์มอบหมาย
“ในภาพรวม กระทรวง ดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ซึ่งส่งผลให้มูลค่าความเสียหายในเดือนกันยายน 2567 จากคดีออนไลน์ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเหลือจำนวน 1,974 ล้านบาท โดยแม้ตัวเลขจะยังสูงอยู่ แต่ก็ลดลงกว่า 1,500 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – มิ.ย.67) ที่มีความเสียหายเฉลี่ย 3,514 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คกก. ได้หารือถึงการเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลของรัฐบาลต่อไป” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าว
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441
แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com