วันนี้ (21 ต.ค.2567) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Dailynews Talk 2024) “Soft Power: โอกาสประเทศไทย” โดยกล่าวเสวนาตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี การจะยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูงไม่ใช่เรื่องง่าย จากปัจจัยเรื่องความสามารถในการแข่งขัน เรื่องของคุณภาพการศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ “ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลเชื่อมั่น “ซอฟต์พาวเวอร์” จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวกระโดดได้ภายในทศวรรษหน้า และเป็นนโยบายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้หลายสิบล้านคน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทุนวัฒนธรรม มีเสน่ห์ของคนไทยและประเทศไทย ดึงดูดคนทั่วโลก ทำให้ชาวต่างชาติหลงใหล และเชื่อมั่นว่าคนไทยเก่งมีศักยภาพ มีทักษะสร้างสรรค์ที่รอโอกาสในการพัฒนา
“หัวใจสำคัญของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ คือ การพัฒนาแรงงานทักษะต่ำให้เป็นแรงงานทักษะสูง แล้วเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการจากทักษะสูง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดด้วยนวัตกรรม สร้างแบรนด์ดิ้งที่มีเรื่องเล่า ด้วยการต่อยอดเพิ่มเติมทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือ Up-skill และการฝึกอบรมสร้างทักษะใหม่ หรือ Re-skill เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานราชการ นักวิชาการมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน แรงงาน ที่ผ่านมาทำกันแยกส่วนกัน ยังไม่มีการบูรณาการ หรือ integrate เป็นระบบอย่างจริงจัง” นายกรัฐมนตรี ย้ำ
การทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ภายใต้โครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ OFOS – One Family One Soft Power นั้น จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันขับเคลื่อนออกแบบหลักสูตรการอบรมที่ใช้ประกอบอาชีพได้จริง ทั้งการอบรมในสถานที่ On- site และการอบรมออนไลน์ ทุกคนเรียนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ทำให้การยกระดับศักยภาพระดับทักษะจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นกลาง และขั้นสูงอย่างไม่มีข้อจำกัดและให้เข้าถึงง่ายที่สุด ซึ่งต้องอาศัยภาคเอกชนมาช่วยเหลือในการเขียนสูตรหลักสูตรการอบรม เป้าหมาย คือทำให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทุกสาขาได้ ยกระดับสินค้าและบริการจากวัฒนธรรมไทย ให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น มีเสน่ห์มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องกังวลในการแข่งขันเรื่องราคากับผู้ผลิตสินค้าที่มีข้อได้เปรียบในการผลิตจำนวนมาก ( Economy of scale )
นายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่าง “Korakot” แบรนด์ประติมากรรมไม้ไผ่จากภูมิปัญญาไทย เป็นของตกแต่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงาม ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่เล่นแสงและเงาอย่างโดดเด่น ซึ่งประสบความสำเร็จมากในเวทีทั่วโลกจนแบรนด์หรูของฝรั่งเศส จ้างแบรนด์ Korakot ทำ window backdrop เป็นการพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปให้ถึงระดับโลก มุ่งยกระดับช่างศิลป์ทุกท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ใช้ทักษะสร้างสรรค์ไปให้ถึงระดับโลก เพราะตลาดโลกกว้างใหญ่ ไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขตจำกัด
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตัวอย่างที่ยกขึ้นมา สะท้อนว่าคนไทย และวัฒนธรรมไทย มีศักยภาพในตัวเองมากเพียงใด ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และจากการที่ได้เดินทางไปประชุม ACD รวมถึง ASEAN พบว่า หลายประเทศให้ความสนใจในวัฒนธรรมไทยมาก โดยเฉพาะ “อาหารไทย” ซึ่งแต่ละชาติก็มีความสนใจแตกต่างกันไป สำหรับวงการอาหารต้องเปลี่ยนจากเกษตรกรรมที่ส่งออกพืชผล สู่อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ นอกจากผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ให้มีร้านอาหารไทยที่มีรสชาติแท้ และใส่ความคิดสร้างสรรค์ในทุกจานไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว ยังจะส่งออกอาหารไทยพร้อมทานที่มีรสชาติอร่อย โดยใช้เทคโนโลยีถนอมอาหารที่เก็บได้นาน 2 ปี เติมนวัตกรรมอาหารด้วย Food Lab ที่ช่วยรักษารสชาติและกลิ่นหอมเหมือนปรุงสุกใหม่ ๆ ให้กับนักชิมทั่วโลก
และตัวอย่างที่โด่งดังมากในอเมริกา คือ “ขนมครกแช่แข็ง” ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ขายดีจนสร้างกระแสไวรัล เพราะสามารถคงรสชาติของขนมครกไว้ได้ดี ทั้งนี้ การใช้นวัตกรรมถนอมอาหาร จะทำให้อาหารไทยเข้าถึงคนทั่วโลกได้ง่ายมากขึ้น เชื่อว่าอาหารไทยพร้อมทานเช่น ต้มยำกุ้ง พะแนงเนื้อ ผัดกะเพรา ต้มข่าไก่ มีตลาดรองรับทั่วโลก และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ปัจจุบันนวัตกรรมด้านถนอมอาหาร ไม่ว่าเทคโนโลยีรีทอร์ท (Retort) การทำอาหารแช่แข็ง (Frozen Food) การยืดอายุอาหาร การคงความสดของอาหารเอาไว้มีราคาถูกลงมาก ถือ เป็นโอกาสใหม่ของอาหารไทย
นายกรัฐมนตรีระบุว่า อุตสาหกรรม Wellness เป็นเทรนด์ทั่วโลกหันมาสนใจ การอยู่ดีมีสุข สุขภาพกายและใจที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ ธุรกิจนี้กำลังเติบโตมากทั้งโลก และรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีครบวงจร อาหารสุขภาพ สมุนไพรไทย รวมทั้ง มีภูมิปัญญาซึ่งเป็นมรดกโลกอย่างการนวดไทย มีมวยไทยสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและยังโด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงความแข็งแกร่งทางการแพทย์ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในอุตสาหกรรม Wellness ซึ่งต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไป รวมถึงยกระดับการท่องเที่ยวด้วย Human made tourism
ซึ่งจะยกระดับเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาสงกรานต์ ลอยกระทง หรือระดับท้องถิ่นเช่น ผีตาโขน แห่เทียนพรรษา บุญบั้งไฟ เสริมภาพลักษณ์ Festival country ประเทศที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปี มีเทศกาลใหม่ให้มาเที่ยวได้เสมอ สร้างเศรษฐกิจเทศกาล ให้หมุนเวียนในทุกท้องถิ่น รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ไทยเป็นพื้นที่สำหรับการจัดเทศกาลดนตรีระดับโลก ทั้งหมดนี้ คือโอกาสของประเทศไทยในกรอบของคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่จะยกระดับชีวิตของพี่น้องประชาชนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลยังมีนโยบายผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรองตลอดปี ผ่านการดึงซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละภูมิภาคมาเป็นจุดขาย กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน
“พี่น้องประชาชนและรัฐบาล คือหุ้นส่วนประเทศไทย ที่ต้องร่วมกันช่วยพัฒนาประเทศไทย ให้เจริญรุ่งเรือง ให้เป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูง และคนไทยไม่ยากจนอีกต่อไป เมื่อประชาชนพัฒนาศักยภาพทักษะ ยกระดับรายได้และฐานะให้ร่ำรวยรัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ภาษีที่เก็บได้จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้รุ่งเรือง ประโยชน์ก็จะกลับตกอยู่กับประชาชนคนไทย” นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ
อ่านข่าว :
ส่องทิศทางวงการหนังสือกระเตื้อง 1.7 หมื่นล้าน – “อีบุ๊ก” มาแรง สูงวัยนิยม