วันนี้ (22 ต.ค.2567 ) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงคดีตากใบที่รัฐบาลอาจจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการออกพระราชกำหนดไม่ให้คดีหมดอายุความ ว่าไม่ทราบเรื่องที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทยพูด แต่หลายคนบอกว่าเพื่อไทยปัดความรับผิดชอบ
วันที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและเป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ตอนนั้นก็ยังไม่ถูกฟ้องร้องคดีใดทั้งสิ้น ถ้าวันนั้นยังบริสุทธิ์อยู่และศาลยังไม่ได้รับเป็นคดี ก็ต้องให้ความเป็นธรรม ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นายวิสุทธิ์ย้ำ ตนไม่ทราบรายละเอียด ไม่กล้าฟันธง
เรื่องนี้เกิดมา 20 ปีผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว บางรัฐบาลอยู่เป็น 10 ปี แต่จะมาโยนให้พรรคเพื่อไทยรับอย่างเดียวคงไม่ถูก ตอนนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ว่าตามศาล ว่าตามตำรวจให้ไปดำเนินการอำนวยความยุติธรรม นายวิสุทธิ์กล่าว
ส่วนด้าน นางอังคณา นีลไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา กล่าวถึงการพิจารณาคดีตากใบว่ารัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดได้ในการประชุม ครม. และในวันพฤหัสบดีนี้ (24 ต.ค.) ทางสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดได้ในกรณีเร่งด่วน ซึ่งส่วนตัวมองว่าหาก ครม.จะดำเนินการก็สามารถดำเนินการได้ทัน เพื่อขยายเวลาให้สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้
เป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย หากรัฐบาลหยุดอายุความได้ก่อน จะเป็นความหวังจะสามารถได้รับความยุติธรรม แต่หากประตูตรงนี้ถูกปิด ยังมองไม่ออก หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาศาลภายใน 2 วัน คือวันที่ 24 ต.ค. นี้ถือว่าคดีจะหมดอายุความ
โดยนางอังคณายังมองว่าหากคดีหมดอายุความผู้ต้องหาและจำเลยก็พ้นผิดไป เช่นเดียวกับคดีมัสยิดกรือเซะ แต่กรณีตากใบเป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ส่วนตัวมองว่ากลไกในประเทศหากไม่ทำงาน ประชาชนสามารถฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ ให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนยื่นร้องได้ โดยผลในทางปฏิบัติผู้ที่ถูกฟ้องไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ ได้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการทำคดีเช่นนี้ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ส่วนการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก อาจเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งสามารถหยิบเรื่องไปพิจารณาในศาลอาญาระหว่างประเทศได้ หากวันหนึ่งประเทศไทยให้สัตยาบัน แต่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ กระบวนการที่ยังล่าช้าทุกคนยังคงตั้งคำถามถึงการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย
คดีอาญาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องแต่เป็นหน้าที่ของอัยการของพนักงานสอบสวน และอัยการจะต้องฟ้องร้องแทนประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จะมาฟ้องเอง
พร้อมกับหยิบยกว่ากรณีที่มีคนกระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวมาดำเนินคดีได้ แต่ในขณะที่กรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิด รัฐไม่สามารถจับเจ้าหน้าที่มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย
และได้ประเมินสถานการณ์ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หากไม่สามารถจับผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยยอมรับว่ากังวลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะหมดไป เกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและอาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งใช้ความต่อสู้หรือความรุนแรงเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องนี้รวมทั้ง สมช. แต่รัฐกลับปล่อยให้โอกาสการเข้าสู่กระบวนการในศาลหมดไป
“หลีกเลี่ยงได้ยาก หากจะเกิดความแรงตามมา เพราะส่วนตัวได้แต่พูดว่ารู้สึกเสียดาย ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมีอาจจะหมดไป” นางอังคณากล่าว
นางอังคณา ฝากไปถึง รมว.ยุติธรรม ว่าเห็นความพยายามมาตลอด แต่หน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงอื่น หรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการสนับสนุนส่งเสริมที่จะทำให้มีการพิสูจน์ความจริง เช่น เมื่อศาลออกหมายจับแล้วแต่กลับปล่อยให้ผู้ต้องหาและจำเลยหายไป โดยที่ไม่รู้เบาะแส ซึ่งมีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่ที่อังกฤษ ส่วนอีกคนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และทวงถามเรื่องการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน
“ฝากไปถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องหยุดในการสร้างวาทกรรมโยนความผิดให้ผู้เสียหาย จะเห็นหน่วยงานรัฐบาลพยายามพูดว่ากรณีตากใบเป็นการจัดการ หรือขบวนการ หรือการกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเกิดการชุมนุมในสิ่งที่กรรมาธิการเองหรือทุกฝ่าย นักสิทธิมนุษยชนได้พูดกันคือใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมาจากไหนแต่ไม่สมควรถูกกระทำได้รับถึงความตาย นางอังคณากล่าวปิดท้าย
อ่านข่าวอื่น :
อีก 3 วันหมดอายุความ “ทวี” หวังปาฏิหาริย์จับผู้ต้องหาคดีตากใบ
แม่ทัพภาค 4 ย้ำอย่าเชื่อผู้ไม่หวังดีปั่นกระแสปม “ตากใบ”
“ภูมิธรรม” ระบุสั่งตามตัว “ผู้ต้องหาตากใบ” แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน