‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธาน กมธ.ชายแดนใต้ ถกผลกระทบกรณีตากใบ แนะรัฐบาลสรุปบทเรียน หาแนวทางเยียวยาเพิ่มเติม แม่ทัพภาค 4 รับเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การคุมฝูงชนจากนี้ต้องได้รับการอบรม เคารพสิทธิ ไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงหลังวาระพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์กรณีคดีตากใบกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยมีผู้มาให้ข้อมูล ได้แก่ ตัวแทนรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เข้าชี้แจง
โดย พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวยอมรับว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น มีฝ่ายตรงข้ามพยายามอาศัยความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐ ตนเองต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมในการเปิดเผยความจริง ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ 2 คนที่ยังคงอยู่ในราชการ ซึ่งได้พยายามติดตามตัวให้มาต่อสู้คดีในศาล พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ทำตามกฎหมาย
ในที่ประชุม คณะ กมธ. ยังแสดงความกังวลที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 ไปเยี่ยมเยียนโจทก์บางคนที่ยื่นฟ้องคดีตากใบในอำเภอสุไหงปาดีและเจาะไอร้อง ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกคุกคาม กมธ. ได้ขอความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 4 ให้รับรองความปลอดภัยและยุติปฏิบัติการเหล่านั้น
คณะ กมธ. ได้สอบถามกองทัพภาคที่ 4 ถึงการเตรียมการรับมือกับการจัดการฝูงชนเพื่อให้สามารถควบคุมประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติได้ เพื่อมิให้เกิดความสูญเสียและผิดพลาดในอนาคตอีก ซึ่งทาง พล.ท.ไพศาล ให้ข้อมูลว่า หน้าที่หลักในการควบคุมประชาชนในที่ชุมนุมเป็นหน้าที่ของตำรวจในพื้นที่ ซึ่งได้รับการอบรมเรื่องการอบรมควบคุมฝูงชนมา
ประธาน กมธ.ให้ข้อสังเกตว่า ในการดำเนินการที่มีหลายหน่วยสนธิกำลังกัน จะมีปัญหาในเรื่องความรับผิดชอบว่าใครเป็นผู้คุมสถานการณ์หลัก ใครเป็นผู้ชี้แจงกับสาธารณะ และจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเชื่อถือต่อปฏิบัติการของรัฐ ซึ่งที่ประชุม กมธ. ฝากให้แม่ทัพภาค 4 ปรับปรุงการควบคุมฝูงชน การบังคับกฎหมาย และทำให้เกิดความยุติธรรมต่อไป
นายฉัตรชัย บางชวด รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กล่าวคำขอโทษและได้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบแล้ว และทางตำรวจได้พยายามดำเนินการในการติดตามตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็ได้เดินหน้าไประดับหนึ่ง
ทั้งนี้ มีข้อสั่งการจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ให้เฝ้าระวังการก่อเหตุ การติดตามตัวผู้กระทำผิด และยกระดับการเตรียมการเพื่อรับมือกับการชุมนุม โดยเคารพสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รักษาความปลอดภัยและป้องกันภัยจากมือที่สาม
นอกจากนี้ หลังวันที่ 25 ตุลาคม ทางฝ่ายรัฐได้เตรียมดำเนินการในประเด็นสำคัญๆ เพื่อรับมือผลกระทบที่จะตามมา ดังนี้
1) เฝ้าระวังการก่อเหตุรุนแรงอย่างเข้มข้นมากขึ้น
2) กำชับหน่วยปฏิบัติให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย
3) ดำเนินการเรื่องการเยียวยาทางจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเยียวยาในอดีตที่ผ่านมา
4) รัฐจะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการพูดคุยในระยะต่อไป ที่ไม่ใช่เฉพาะกรณีตากใบเท่านั้น สมช. ชี้แจงว่าจะทำข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยจะแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขใหม่ ซึ่งภาครัฐยินดีที่เปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย
ประธาน กมธ.ยังมีความเห็นว่า รัฐบาลควรต้องสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบ ที่ผ่านมาตั้งแต่การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม การดำเนินคดี ซึ่งระหว่างการชุมนุมและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้นเป็นบาดแผลต่อสังคมไทย รวมถึงต่อมาพบว่าแม้มีความพยายามที่จะดำเนินคดีในระยะหลังนี้ แต่จะพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย รัฐบาลจึงควรจะหาทางเยียวยาเพิ่มเติม และหาทางบังคับใช้กฎหมายและใช้กระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างจริงจัง รวมทั้งแสดงท่าทีหรือมียุทธศาสตร์และมาตรการเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
โดย คณะ กมธ. สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพเพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ทั้งนี้ ในขณะที่การพูดคุยเจรจายังคงดำเนินอยู่ ขอให้ทุกฝ่ายละเว้นการใช้ความรุนแรง และเลือกใช้พื้นที่ทางการเมืองในการแสดงออกซึ่งความเห็นและข้อเรียกร้องของตนอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงต่อจากนี้ จะเชิญหน่วยงานความมั่นคงมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และนำมาใช้ทำรายงานของ กมธ. ที่หลังจากรับฟังประชาชนจากในพื้นที่มาแล้ว ก็จะนำความเห็นของหน่วยงานความมั่นคงมารวบรวมเป็นข้อเสนอในรายงานของ กมธ.ด้วย