วันนี้ (31 ต.ค.2567) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงคำร้องนายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทย ว่า ต้องดูกระบวนการร้องนั้น ต้องได้สัดส่วน ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในคำร้องการยื่นยุบพรรคการเมือง
ส่วนที่ว่านายทักษิณ ครอบงำพรรคหรือไม่ ตนไม่เกี่ยว แต่ในภาพใหญ่ไม่ควรให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนต้องตาย ด้วยองค์กรอิสระได้ เพราะมันจะเกิดคำถามว่า องค์กรอิสระมีที่มาจากไหน ความโปร่งใสและความรับผิดชอบเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ต้องพิจารณาความเหมาะสมของสัดส่วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบทลงโทษ ถ้าถูกครอบงำจริง บทลงโทษก็ควรได้สัดส่วนตามระดับของความผิด ไม่ใช่ทุกเรื่องจะต้องถูกยุบพรรคหมด ตนคิดว่าไม่เป็นไปตามหลักการและสามัญสำนึก
ส่วนรายละเอียด ไม่สามารถตอบได้ทั้งหมดเพราะยังไม่ได้อ่านคำร้อง แต่บทลงโทษต้องเป็นไปตามสัดส่วนความผิด ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญหรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ปกปักษ์รัฐธรรมนูญ การเกิดรัฐประหาร โทษควรจะหนักกว่าการครอบงำพรรค ทำไมคนทำรัฐประหารไม่เห็นได้รับโทษเลย
นายพิธายังเปรียบเทียบกระบวนการคำร้องของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล ตอนนั้นมีข้อต่อสู้ ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงตามระเบียบใหม่ ที่เกิดขึ้นหลังยุบพรรคอนาคตใหม่
ตอนนี้ระเบียบดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้มีโอกาสชี้แจง เพราะถ้าได้ชี้แจง เรื่องจะจบที่ กกต. ไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์ เพราะเป็นระเบียบที่ทุกพรรคการเมือง ควรจะได้รับระเบียบนั้น อย่างที่เคยอ่านถ้อยแถลงพรรคก้าวไกลว่า
การพิจารณายุบพรรค ไม่ควรมี 2 มาตรฐาน ไม่ควรมีการยุบพรรคแบบทางด่วน และไม่ควรมีการยุบพรรคแบบทางธรรมดา และการให้พรรคชี้แจงเป็นสิทธิ ไม่ไปผูกขาดอำนาจของ กกต.
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตถึง สถานการณ์พรรคเพื่อไทยที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหา ทำให้มีวิเคราะห์ว่าพรรคเพื่อไทยอาจชิงยุบสภาก่อน นายพิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีด้วย การเมืองย่อมเกิดขึ้นได้หมด ซึ่งเคยคุยกับนักวิชาการต่างชาติว่า อายุรัฐบาลอยู่ได้ประมาณ 1ปีครึ่ง ถ้าไม่ใช่รัฐบาลเกิดจากการเผด็จการ และตอนนี้อยู่ในห้วงเวลาที่เกิดขึ้นได้ และคิดว่าทุกพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนก็พร้อมที่จะเลือกตั้ง เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้
อ่านข่าว : จับตา! กกต.เคาะคำร้องปมสอบคุณสมบัติ “สว.เกศกมล”
“แจ้งตาย” เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ครั้งสุดท้ายที่ทำให้ “ผู้วายชนม์”