หน้าแรก Thai PBS “ฝ่ายค้าน” ติงรัฐบาลโปร่งใส สัมปทานพลังงานในพื้นที่ OCA

“ฝ่ายค้าน” ติงรัฐบาลโปร่งใส สัมปทานพลังงานในพื้นที่ OCA

25
0
“ฝ่ายค้าน”-ติงรัฐบาลโปร่งใส-สัมปทานพลังงานในพื้นที่-oca
“ฝ่ายค้าน” ติงรัฐบาลโปร่งใส สัมปทานพลังงานในพื้นที่ OCA

ด้าน “วราวุธ” ขอประชาชนอย่าเอาการเมือง เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ ย้ำเกาะกูดเป็นของคนไทย ไม่มีประเทศใดเสียเปรียบ

“วราวุธ” ระบุพื้นที่ทับซ้อนไม่เกี่ยวเกาะกูด

วันนี้ (5 พ.ย.2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวานนี้ว่า มีการพูดคุยเรื่อง MOU 44 ขอให้สบายใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับเกาะกูดตั้งแต่แรก ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูดเลย

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนของใคร ไม่มีเรื่องเกาะกูดเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถตัดทิ้งไปได้ เพราะไม่ได้อยู่ในข้อกังวลของ MOU 44 ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้มาตรการการลากเส้นเขตแดน คนละแนวคิด จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา และพื้นที่ทับซ้อนก็มีทรัพยากรใต้ดิน เกี่ยวกับปิโตรเลียม จึงได้พูดคุยและขอยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อขัดแย้ง เพียงแต่เห็นไม่ตรงกันจึงต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC)

ต้องตั้ง JTC ฝ่ายไทย ขึ้นใหม่ หายไปช่วงรอยต่อรัฐบาล

ที่ผ่านมา เรามี JTC และร่วมหารือกับกัมพูชามาโดยตลอด แต่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากนายเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องมีการตั้ง JTC ฝั่งไทยขึ้นมาใหม่ ซึ่งขั้นตอนนี้มีการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ขอฝากประชาชนอย่าเอาประเด็นการเมือง มาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ มันหนักหนาสากรรจ์ และเป็นคนละประเด็น การทำงานระหว่างไทยและกัมพูชา ยังมีการพูดคุยเพื่อให้เกิดข้อตกลงโดยเร็วที่สุด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หรืออธิปไตยของเกาะกูดแต่อย่างใด เพราะเกาะกูดยังเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ตราด และไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ จากฝ่ายกัมพูชา

คปท.ยังตรวจสอบ MOU 44 ต่อไป

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าตรวจสอบนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็น MOU 44 ระหว่างไทยกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ตรวจสอบจากหลายเรื่อง

เพราะมีข้อกังวลท่าทีของรัฐบาล ที่อาจนำแหล่งพลังงานขึ้นมาใช้ ก่อนที่จะเจรจาเรื่องเขตแดน เพราะมองว่า ควรมีการเจรจาควบคู่กันไป เมื่อเขตแดนชัดเจน จึงพูดคุยถึงเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน

เรื่องนี้มีความชัดเจนตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งตกลงกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และท่าทีนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศชัดเจนว่า จะเร่งดำเนินการเจรจาเรื่องผลประโยชน์พลังงาน

โดยหลังจากกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวถึงความคืบหน้า JTC และมีแนวโน้มว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธาน จึงมีข้อกังวลว่าท่าทีของนายภูมิธรรม จะพูดเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงานก่อน ดังนั้นถ้าคณะกรรมการชุดนี้ผ่าน ครม. ก็จะกำหนดแนวทางการชุมนุมยืดเยื้อต่อไป

ผู้นำฝ่ายค้านยัน “เกาะกูด” เป็นของไทย

ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันหรือ OCA ขนาด 26,000 ตารางเมตร ที่กำลังถกเถียงกัน มีความสำคัญต่อคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากมีนัยยะสำคัญถึงความพยายามนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ไทยไม่เคยลงนามใด ๆ ที่มีผลผูกพันยอมรับเส้นแบ่งเขตแดน ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์เหนือเกาะกูด ส่วน MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

เป็นเพียงข้อตกลงกำหนดกรอบ และกลไกการเจรจาระหว่างกัน และรับทราบการลากเส้นอาณาเขตทางทะเลของแต่ละฝ่าย ซึ่งชัดเจนในทางกฎหมายและทางปฏิบัติว่า เกาะกูดเป็นของไทย และกัมพูชาไม่เคยอ้างสิทธิ์ หรือมีข้อพิพาทในเรื่องเขตแดนของเกาะกูด ดังนั้นเกาะกูดไม่มีทางจะเป็นของชาติอื่นอย่างแน่นอน

ประชาชนแคลงใจนโยบายพลังงานรัฐบาล

แต่เรื่องที่น่ากังวลคือ 1.หากไทยกับกัมพูชาเจรจาผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2515 แต่ถูกแช่แข็งไว้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้ จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่

2.หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า ความพยายามในการเจรจากับกัมพูชาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียมนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง เข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่ประชาชนเกิดข้อครหาต่อท่าทีและนโยบายพลังงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา

ยืนยันว่า พรรคประชาชนสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการเปลี่ยนผ่านที่โลกจะเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์ แต่เราต้องการให้ทรัพยากรอันเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย ถูกจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงทางพลังงานของประชาชนทั้งชาติ

ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือ ประชาชนไทยรู้สึกระแวงแคลงใจต่อเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการเร่งเจรจาเขตแดนพื้นที่ OCA เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียม หากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทาน หรือแถลงแนวทางที่ชัดเจน ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA จะช่วยคลายความกังวลและข้อครหาต่าง ๆ ที่มีต่อรัฐบาลลงได้มาก และทำให้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น

อ่านข่าว :

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่