‘พิชัย นริพทะพันธุ์’ รมว.พาณิชย์ ลุยเซี่ยงไฮ้ ถกภาคเอกชนไทยในจีน 16 บริษัท เร่งแก้อุปสรรคการค้า จับคู่นักลงทุนไทย-จีน ย้ำ! สถานการณ์การลงทุนในไทยวันนี้ดีต่อเนื่อง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ภายหลังหารือกับบริษัทไทยในจีน และคณะภาคเอกชนจากไทย(คณะหอการค้าไทยในจีน) จำนวน 16 บริษัท อาทิ อาหาร ขนมขบเคี้ยว น้ำตาล แป้งมัน พลาสติก ธนาคาร รังนก สุขภาพและความงาม เป็นต้น ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ทูตพาณิชย์ และทูตเกษตร ณ สถานกงสุลใหญ่ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคการค้าให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงระหว่างเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo – CIIE ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติประจำปีของจีน โดยงาน CIIE ครั้งนี้ประเทศไทยนำผู้ประกอบการ 80 รายเข้าร่วม มาจากกระทรวงพาณิชย์ 20 ราย ซึ่งสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบในจีน ช่วยสร้างโอกาสในการทำรายได้เข้าประเทศ
นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนามากยิ่งขึ้น เราอยากเห็น 80% ของงานกระทรวงพาณิชย์ คือการส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนมากๆ ส่วน 20% แค่คุมสิ่งที่จำเป็นไม่ให้มีปัญหาเท่านั้น วันนี้ได้คุยกับผู้ประกอบการไทย ทำให้ได้ข้อมูลเยอะ ได้ทราบว่าเราส่งออกรังนกมาจีนถึง 60,000 กว่าล้านบาท ถ้ามีการแก้ปัญหาข้อกฎหมายบางอันได้ จะสามารถส่งออกได้มากถึง 100,000 ล้านบาท และเรื่องแบงค์ของไทย เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ที่ได้มาตั้งสำนักงานที่จีนมานาน ระบุว่า มีนักลงทุนจีนที่สนใจจะมาลงทุนเมืองไทย อยากให้ช่วย Matching จับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนไทย เพื่อให้มีการลงทุนจากจีนมากยิ่งขึ้นให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ โดยเฉพาะธุรกิจไฮเทค วันนี้เราจะต้องพัฒนาไปทางด้านไฮเทค โดยเมื่อวานนี้ตนได้เดินทางไปที่บริษัทหัวเว่ย มีการเปิดศูนย์พัฒนาใหม่มูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท มีพนักงานมาอบรมถึง 30,000 คน และจะเปิดโอกาสให้คนไทยมาอบรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ วันนี้โลกเปลี่ยนต้องแข่งด้วยความฉลาด ทำอย่างไรให้คนของเราฉลาดเพียงพอ เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราอยากเห็นให้เกิดขึ้น ต้องช่วยกันสนับสนุน
นายพิชัยกล่าวต่อว่า วันนี้ประเทศไทยกลับเข้าสู่เวทีโลกอย่างเด่นชัด ได้รับการติดต่อมาโดยตลอดว่า จะมีนักลงทุนแห่กันเข้ามา ทั้งการลงทุนในเรื่อง PCB Data Center และ Food Security ที่ไทยอยากเสนอตัวเป็นคลังอาหารของโลก เช่น ในเดือน พ.ย. นักลงทุนนักธุรกิจรายใหญ่จากอเมริกาแห่เข้ามาพบที่กระทรวงพาณิชย์ และเราเตรียมให้การต้อนรับ ให้มีการลงทุนมากขึ้น และสำหรับจีนก็จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเยอะ
“วันนี้สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยต้องบอกว่า ประเทศไทยโชคดีที่ประเทศจีนก็รักเรา สหรัฐอเมริกาก็รักเรา รัสเซียก็รักเรา อินเดียก็รักเราประเทศใหญ่ๆในโลกรักเราหมด เราจะเป็นตัวกลางในการทำให้การค้าการลงทุนเข้ามา กระทรวงพาณิชย์ได้รับการติดต่อจากประเทศต่างๆที่จะเข้ามาลงทุนและทำการค้ากับไทยเยอะมาก เราเห็นเราเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยดีมาก” นายพิชัยกล่าว
โดยเมื่อวานนี้ตนได้มีโอกาสเจอกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งท่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย และนายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ท่านบอกว่าปีหน้าไทย-จีน จะครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี อยากให้มีความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวเรื่อยๆ อีกไม่นานคงมีเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของโลกขึ้นอยู่กับเวลาว่าจะเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ไทยเองเราก็ต้องมีนโยบายที่ดีในการร่วมมือกับจีน
ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในจีน ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งสถานการณ์การค้าในปัจจุบันของแต่ละบริษัท การค้าไทย-จีน โอกาสในการดำเนินธุรกิจ ปัญหาอุปสรรคทางการค้าในปัจจุบัน แนวทางการแก้ไขและผลักดันสินค้าและบริการไทย ที่เอกชนต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยผลักดัน และเสริมความร่วมมือในอนาคต โดยกระทรวงพาณิชย์ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ในฐานะทัพหน้าในการขยายการค้า โดยพร้อมที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในด้านต่างๆ
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันที่สูงที่สุดกับไทยเป็นเวลาติดต่อกันถึง 12 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้า 3.65 ล้านล้านบาทลดลง 0.19% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยช่วง 9 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าไทยและจีนมีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.38% สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง
2.ผลิตภัณฑ์ยาง
3.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
4.เม็ดพลาสติก
5.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
และสินค้านำเข้าหลักของไทยจากจีน ได้แก่
1.เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
2.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
3.เคมีภัณฑ์
4.เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
5.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ