หน้าแรก Voice TV เวทีประชุม ACMECS ผู้นำ 5 ประเทศเห็นพ้องจับมือกันพัฒนาทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนกว่า 200 ล้านคน มอบ ‘กรุงเทพฯ’ เป็น สนง.ชั่วคราว

เวทีประชุม ACMECS ผู้นำ 5 ประเทศเห็นพ้องจับมือกันพัฒนาทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนกว่า 200 ล้านคน มอบ ‘กรุงเทพฯ’ เป็น สนง.ชั่วคราว

18
0
เวทีประชุม-acmecs-ผู้นำ-5-ประเทศเห็นพ้องจับมือกันพัฒนาทุกมิติ-เพื่อประโยชน์ของประชาชนกว่า-200-ล้านคน-มอบ-‘กรุงเทพฯ’-เป็น-สนง.ชั่วคราว
เวทีประชุม ACMECS ผู้นำ 5 ประเทศเห็นพ้องจับมือกันพัฒนาทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนกว่า 200 ล้านคน มอบ ‘กรุงเทพฯ’ เป็น สนง.ชั่วคราว

‘สปอร์ตไลท์ ส่อง ไทยแลนด์’ หลัง นายกฯแพทองธาร เสนอแก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรข้ามชาติ ภัยภิบัติทางธรรมชาติ ร่วมกันในที่ประชุมผู้นำ 5 ประเทศลุ่มน้ำอิรวดี- เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 ชี้ประสบผลสำเร็จเกินคาด มอบกรุงเทพฯ เป็น สนง.ชั่วคราว สนับสนุนการจัดตั้งกองทุน ACMECS เพื่อประโยชน์ของประชาชน กว่า 200 ล้าน

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567) เวลา 14.00น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครคุนหมิง ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชม.) ณ โรงแรม Wyndham Grand Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming สาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 โดยมีผู้นำของ 5 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานการประชุมฯ และนายกรัฐมนตรีจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ที่ได้จัดการประชุมในวันนี้ นับเป็นเวลาถึง 21 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยได้ริเริ่มและร่วมกันก่อตั้ง ACMECS ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ยุทธศาสตร์เป็น “สะพาน” เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก และบทบาทที่มีความสำคัญมากขึ้นในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียนและระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมองว่า ACMECS ในวันนี้เติบโตเปรียบเสมือนคนวัยหนุ่มสาวที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและพลังที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า พัฒนาการของ ACMECS ในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน” แบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งไทยได้เชื่อมโยงเส้นทางต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้างถนนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ตลอดจนส่งเสริมการทำงานร่วมกันในพื้นที่ท้องถิ่นผ่านระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง – อินโดจีน – เมาะลำไย พร้อมทั้งสร้างการสอดประสานด้านเศรษฐกิจ เน้นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าชายแดน การปรับกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน อาทิ กฎระเบียบด้านการขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้แผนงาน GMS และร่วมกันพัฒนาอนุภูมิภาคในมิติความยั่งยืนและนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ให้ทุนการศึกษาและจัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรในประเทศสมาชิกกว่า 100 ราย และไทยจะต่อยอดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อให้มั่นใจว่า “อนุภูมิภาคของเราจะเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“ดิฉันภูมิใจอย่างยิ่งที่ไทยได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ACMECS ในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะการได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ตั้งที่กรุงเทพฯ และทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ซึ่งเป็นกลไกกลางในการวางแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และประสานงานทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ACMECS ผ่านการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ และเว็บไซต์ ACMECS และในที่ประชุมวันนี้ได้ต้อนรับประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศที่ 7 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของความร่วมมือในกรอบ ACMECS”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไป ว่า “สมาชิกทั้ง 5 ประเทศ” เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลกัน มีผลประโยชน์และศักยภาพร่วมกันในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน มลพิษทางอากาศ และภัยธรรมชาติอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมในวันนี้จึงควรร่วมกันพิจารณานำกรอบความร่วมมือ ACMECS มาใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 แนวทาง เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้กรอบ ACMECS ดังนี้

ประการที่ 1 ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งตามรายงานของสำนักงาน ว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 2023 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการยึดเมทแอมเฟตามีนมากถึง 170 ตัน และเคตามีน 22 ตัน ขณะเดียวกัน อาชญากรรมทางไซเบอร์ยังได้กลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในอนุภูมิภาค 

ที่ผ่านมา มีการรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจในประเทศไทยระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 ถึงมีนาคม ค.ศ. 2024 มีมูลค่าสูงกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยจึงขอสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้กลไกตามกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสกัดกั้นการนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในการผลิตยนาเสพติด การปราบปรามการผลิต การค้ายาเสพติด รวมถึงการเสริมสร้างพัฒนาความเข้มแข็งและยกระดับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และพร้อมที่จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดประชุมและพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ

ประการที่สอง เรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงที่ปัญหามลพิษทางอากาศเริ่มกลับมามีความรุนแรง ประชากรกว่า 200 ล้านคนในอนุภูมิภาค หรือ 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลดลงประมาณ 1.5 ปี และเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ประเทศไทยจึงมุ่งมั่นดำเนินความร่วมมือกับประเทศสมาชิก เพื่อลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 ซึ่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยร่วมกับ สปป.ลาว และเมียนมา จัดพิธีเปิดตัว “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” เพื่อเป็นหนึ่งในต้นแบบความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเชียงรายฯ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นภูมิภาคอาเซียนที่ปลอดหมอกควันภายในปี ค.ศ. 2030 

ประการสุดท้าย เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 5 ล้านคนในอนุภูมิภาค ต้องเผชิญกับผลกระทบจากไต้ฝุ่น “ยางิ” โดยมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สถิติ แต่เป็นชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สิน และเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง   

ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียในกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม จากอุทกภัยในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมเน้นย้ำถึงการบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาค ซึ่งถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ โดยไทยได้เสนอเอกสารแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บท ACMECS เพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ACMECS ในโอกาสแรก เพื่อร่วมกำหนดท่าทีในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทุกกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ACMECS ควรเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS โดยไทยยืนยันคำมั่นที่จะสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนฯ และหวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับกลไกการบริหารกองทุนฯ ได้ภายในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2025 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม พร้อมเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ตลอดจนประเทศที่มีศักยภาพ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ร่วมสมทบกองทุนฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนต่อไป

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การประชุมผู้นำ ACMECS ในวันนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเดินหน้าและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อมุ่งสร้างโอกาส การพัฒนา และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และการส่งเสริมการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะมีบทบาทสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS บนพื้นฐานการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” พร้อมทั้งสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธาน ACMECS ของเมียนมาในวาระต่อไป ตลอดจนพร้อมทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลาย เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือของ ACMECS ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อเป็นกลจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ และพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายทุกรูปแบบอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ 

(1) ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 

(2) ร่างเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ โดยประเทศไทยเป็นผู้เสนอ 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่