โผไม่พลิก ในที่สุด “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีต รมว.พาณิชย์ ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ฝ่ากระแสคัดค้านของกลุ่มนักวิชาการและศิษย์ยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน, เครือข่าย คปท. เข้าไปนั่งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ คนที่ 5 ได้สำเร็จ หลังจากเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดเปิดไฟเขียว ไม่อุทธรณ์คดีที่ “กิตติรัตน์” เอื้อเอกชนระบายข้าว หรือ คดีบูล็อค แม้จะต้องเลื่อนการประชุมไปถึง 2 ครั้ง แต่เมื่อการกระทำในอดีตไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย เพื่อไทยจึงหนุนต่อเนื่อง
น่าจับตาว่า การเข้ามาของ “กิตติรัตน์” ในฐานะประธานบอร์ดแบงค์ชาติคนใหม่ จะส่งผลต่อนโยบายการเงินการคลังอย่างไร และที่สำคัญ ฝ่ายการเมืองจะก้าวล่วงเข้ามาเข้ามาล้วงลูก สร้างความหวาดวิกตก อย่างที่หวั่นกันไว้หรือไม่
ยังให้ไร่ละ 1000 “ไผ่ ลิกค์” สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ค่ายผู้กอง “รอ. ธรรมนัส พรหมเผ่า” ออกมาตอบโต้ “พลพีร์ สุวรรณฉวี” สส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาทวงถามการช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท และเงินชดเชย ตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ว่า แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ผ่านมา จะยังไม่ความชัดเจนเรื่องนี้
แต่มั่นใจว่ารัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯพร้อมขับเคลื่อนและผลักดันช่วยเหลือเกษตกรชาวนา ประกอบกับสถานการณ์ราคาข้าวในตลาด ขณะนี้ ยังอยู่ที่ราคาประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อตัน ถ้ามีความจำเป็น ทางรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ก็จะต้องออกมาช่วย
ขณะที่ “แนน” บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย ขานรับข้อเรียกร้อง หลังเกษตรกรร้องขอให้นำโครงการ การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ คืนมา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจำนวนมาก และรัฐบาลไม่ได้ให้ความชัดเจนในการช่วยเหลือชาวนา จึงอยากให้รัฐบาล ให้ความกระจ่างกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หลังจากชาวบ้านไม่ตอบรับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ทำให้เกิดห้วงเวลาแห่งสูญญากาศ ส่งผลให้ชาวนายังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
เรียกขวัญ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ตอบเมื่อถูกถาม กรณี “บิ๊กบอส” เพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วยลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียงว่า การเตรียมการลงพื้นที่ของอดีตนายกฯ มีเจตนาดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้สมัครว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่สำคัญ อีกทั้งนายก อบจ.คนเก่าก็เป็นคนของพรรค พท.อยู่แล้ว ก็จะเรียกขวัญและกำลังใจ แม้การเลือกตั้งจะไม่ปรากฏหลายที่ แต่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ก็จะมีการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศอยู่แล้ว ฉะนั้นพรรคจึงให้ความสำคัญเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเป็นปกติของพรรคการเมือง
เมื่อถูกถามว่า พื้นที่ที่นายทักษิณลงจะแพ้ไม่ได้ใช่หรือไม่ “ประเสริฐ” บอกว่า จะแพ้หรือชนะเป็นเรื่องของประชาชน แต่เราก็คาดหวังให้มีชัยชนะ…ส่วนอดีตนายกฯนายจะไปช่วย ผู้สมัครนายกฯอบจ.สุรินทร์ หาเสียง หรือไม่… ก็มีการประสานงานมาอยู่ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการเดินทางไปหรือไม่ อย่างไร ต้องสรุปกันอีกครั้ง
การเมืองเรื่องน่าหวั่น สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจประชาชน 1,032 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ในมิติต่างๆ ของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน พบประชาชน 68.1% รู้สึกหวั่นไหวต่อการเมืองไทย
โดยประเด็นหลักที่สร้างความหวั่นไหว คือ ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาเงินในกระเป๋า 62.3% รองลงมาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง 61.7%, ปัญหายาเสพติด 60.8%, ขบวนการมิจฉาชีพออนไลน์ 56.8%, และเสถียรภาพของรัฐบาล 54.2%
ตากใบพ่นพิษ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “พรรคการเมืองใดเดือดร้อนจากกรณีตากใบ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-8 พ.ย.2567 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นชายแดนใต้ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวม 1,067 ตัวอย่าง ที่มีต่อพรรคการเมืองหลังจากคดีตากใบหมดอายุความ
ผลการสำรวจพบว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากคดีตากใบที่หมดอายุความ 55.20% อีก 29.99% ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองใด ส่วนอีก 4.69% ระบุว่า พรรคประชาชาติ ขณะที่ 1.97% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่เหลือ 2.16% ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ
ซึ่งผลโพลยังชี้อีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 39.55% ระบุว่าคดีตากใบหมดอายุความ ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปของคน 3 จังหวัด ส่วน 25.21% ระบุว่า ส่งผลมาก อีก 23.62% ระบุว่า ค่อนข้างส่งผล และ 11.62% ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผล นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 50.14% ระบุว่า ขณะนี้คนสามจังหวัด ฯยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมในการสนับสนุนไม่ได้
รองลงมา 18.85% ระบุว่า จะเลือกพรรคประชาชน ,ส่วนอีก 13.68% ระบุว่า พรรคประชาชาติ, ขณะที่ 5.44% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย
โดยที่ 4.69% ระบุว่า พรรคเพื่อไทย อีก 2.62% ระบุว่า เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ และอีก 1.78% ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ที่เหลือ 0.65% ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเสรีรวมไทย พรรคความหวังใหม่
อ่านข่าว : “กิตติรัตน์ ณ ระนอง ” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 5