รมว.สธ.มอบ ‘ปลัดโอภาส’ นำทีมสาธารณสุขไทยประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่องจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่ ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ร่วมกับอีก 65 ประเทศทั่วโลกพร้อมแสดงเจตนารมณ์ผ่าน ‘Jeddah Commitments’ เพื่อขับเคลื่อนปฏิญญาสู่การปฏิบัติ ร่วมกันควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลก ตั้งเป้าลดการตายเหลือร้อยละ 10 ในปี 2573
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนนำทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย การประชุมนี้จัดขึ้นต่อจากการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ในห้วงการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (United Nations General Assembly:UNGA) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อ “จากปฏิญญาสู่การปฏิบัติ” การประชุมนี้เป็นเวทีที่ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากกว่า 65 ประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยนนโยบาย ความสำเร็จและความท้าทายในการดำเนินงาน และแผนการดำเนินการในอนาคตเพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance – AMR) ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ ภาคการเกษตร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่ต้องการความร่วมมือจัดการอย่างจริงจังและเร่งด่วนภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวหรือ One Health
ระหว่างการประชุม นายแพทย์โอภาสได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political commitment) ในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ AMR ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ปัญหา AMR โดยไทยมีแผนปฏิบัติการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคนและสัตว์ได้ถึงร้อยละ 34 และร้อยละ 39 ตามลำดับ และเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคส่วนและประชาคมโลกเพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างเป็นเอกภาพต่อไป
ในช่วงท้ายของการประชุมระดับสูง ที่ประชุมได้มีการรับรองเอกสารแสดงความมุ่งมั่นเจดดาห์ (Jeddah Commitments) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศต่าง ๆ และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดการดำเนินงาน ผ่านความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกลไกธรรมาภิบาลในการบริหารกำกับการดำเนินงานตามแผนจัดการ AMR การกำกับดูแลและการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม การพัฒนาศักยภาพ และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการเข้าถึงยาต้านจุลชีพและทางเลือกในการแก้ปัญหา AMR โดยมีเป้าหมายระดับโลก ที่จะลดการตายจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ร้อยละ 10 ภายใน พ.ศ.2573 (จากข้อมูลพื้นฐานปี พ.ศ.2562 ที่มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากถึง 4.95 ล้านรายต่อปี)