หน้าแรก Thai PBS สร้างหลัก”นิติธรรม” ต้าน “คอร์รัปชัน” ต้องลดกฎหมายทับซ้อน

สร้างหลัก”นิติธรรม” ต้าน “คอร์รัปชัน” ต้องลดกฎหมายทับซ้อน

26
0
สร้างหลัก”นิติธรรม”-ต้าน-“คอร์รัปชัน”-ต้องลดกฎหมายทับซ้อน
สร้างหลัก”นิติธรรม” ต้าน “คอร์รัปชัน” ต้องลดกฎหมายทับซ้อน

“หลักนิติธรรม”หรือ “Rule of Law” เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวขานมาช้านาน เพื่อจัดระเบียบสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย ตามหลักสากล ซึ่งน้อยคนจะทราบว่า สิ่งนี้หมายถึง กฎหมายเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และผู้คนส่วนใหญ่ยินยอมที่จะสละเสรีภาพเพื่อให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่ตั้งคำถามถึงกฎหมายนั้น ๆ

กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ได้ ต้องอาศัยการเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายเกินกว่าหลักแสนฉบับ แต่กลับเป็นประเทศที่ Rule of Law Index 2024 จัดให้อยู่ในลำดับที่ 78 จาก 172 ประเทศ หมายความว่า ชาวไทยปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ในครึ่งล่างของสากลโลก นับว่าขาด “หลักนิติธรรม” พอสมควร

ส่งผลมายังปัญหา “คอร์รัปชัน” ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ Corruption Perceptions Index จัดอันดับในปี 2024 ถือว่ารั้งท้ายอย่างน่าเป็นห่วง

จึงมีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้นิติธรรมเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน และช่วยต่อต้านการเกิดคอร์รัปชันได้อย่างมหาศาล?

กฎหมาย “ไม่ศักดิ์สิทธิ์” ทำอำนาจทับซ้อน-ขัดกันเอง 

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวในงานเสวนา STRENGTHENING RULE OF LAW: FOUNDATIONS FOR NATIONAL PROSPERITY ว่า ไทยขยันร่างกฎหมายออกมาอย่างมาก อย่างกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันก็มีออกมากกว่า15 ฉบับ

เมื่อขยันร่างกฎหมาย สิ่งที่ตามมา คือ ต้องขยันสร้างองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในนามภาครัฐหรือองค์กรอิสระ เพื่อเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนี้ แต่มีการมีกฎหมายจำนวนมากใช่ว่าจะดี เพราะทำให้เกิดความทับซ้อนทางอำนาจได้ง่าย และไม่ทราบแน่ชัดว่า จะใช้ตัวบทกฎหมายใด ในการเอาผิดหรืออ้างอิงเพื่อพิจารณาความผิด และบางครั้ง กฎหมายที่ใกล้เคียงกัน ใช้หักล้างกันเองได้

โทษของข้าราชการหากรับสินบน คือ ประหารชีวิต และบทลงโทษนี้เป็นโทษสูงสุดแล้ว ไม่ต้องเพิ่มกฎหมาย ยิ่งร่างกฏหมายออกมาเยอะ ยิ่งบังคับใช้ยาก ยิ่งเป็นปัญหาให้เกิดการอาศัยช่องโหว่เพื่อคอร์รัปชันได้

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้นิติธรรมไม่มั่นคง คือ ขาดการประสานงานกันของ ภาครัฐ องค์กรอิสระ และงานวิชาการ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ทำให้บางครั้งเป็นการคัดง้างกันเองโดยไม่จำเป็น การปราบปรามคอร์รัปชันจึงอยู่อย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในภาครัฐเองก็มีปัญหาทางหลักนิติธรรม เพราะหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมานั้นมีมากมาย กลายเป็นว่ามี “ผู้สอดส่อง” ตามกฎหมายระดับมหาศาล ทั้งเราตรวจสอบเขา เขาตรวจสอบเรา การดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้หน่วยงานจึงลำบากมาก ผลักดันการจัดซื้อ จัดจ้าง แม้จะอ้างถึงผลประโยชน์ของชาติ แต่หากขัดกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ย่อมเป็นช่องทางให้เกิดการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและลงโทษทางวินัยได้

บรรยากาศการทำงานของข้าราชการนั้นไม่ปลอดภัย กฎหมายเยอะเกินไปทำให้ขยับตัวลำบาก ผู้ทำงานขาด Passion ยอมแพ้ และออกจากระบบไป หรือไม่ก็ทำงานแบบเอาตัวรอดไปวัน ๆ … ไม่ใช่ว่าเป็นไม้ตายซาก แต่กลัวการใช้กฎหมายเพื่อตรวจสอบในภายหลังมากที่สุด

“เพิ่มอำนาจประชาชน” ยกระดับนิติธรรมภาคปฏิบัติ

ดังจะเห็นได้ว่า นิติธรรมบกพร่องในประเทศไทย อยู่ที่การออกกฎหมายแลลพร่่ำเพรื่อ ผู้บังคับใช้หวาดกลัวกฎหมาย ขยับเขยื้อนลำบาก ทำให้กฎหมายทำลายหลักนิติธรรมเสียเอง คำถามคือ มีวิธีการใดที่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มสมรรถนะของนิติธรรมได้?

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ เสนอว่า ต้อง “เพิ่มอำนาจประชาชน” โดยต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ รู้เท่าทันการใช้กฎหมายในทางมิชอบ การทุจริต หรือการผ่านกฎหมายต่าง ๆ โดยไม่มีประชาชนร่วมเป็นผู้ออกความคิดเห็น เพื่อเป็นหนึ่งในองคาพยพของหลักนิติธรรมได้ในเชิงปฏิบัติ

ที่ผ่านมา จึงมีการพัฒนาเว็บไซต์ actai.co ขึ้น เป็น Open Data เพื่อรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดในภาครัฐที่ “ส่อนัยทุจริต” เพื่อให้ประชาชนได้ตั้งข้อสังเกต และรู้ทันข้อมูลภาครัฐ เพราะหากไปรวบรวมด้วยตนเอง และสืบค้นเว็บไซต์องค์กร หรือขอสืบค้นเอกสารต้นฉบับ ไม่มีทางเป็นไปได้

ไม่มีเจ้าชายขี่ม้าขาวในโลกของกฎหมาย ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนต้องอยู่ในสมการ ตามหลัก People-centred Justice ลงลึกถึงปัญหาของประชาชน เป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหา ระบบตั้งมามีจำกัด หากประชาชนได้อำนาจ จะทำให้นิติธรรมพัฒนาไปได้ไกลมาก ต้องมีความตระหนักว่าเราลงเรือลำเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ชี้ให้เห็นข้อควรระวังของ Open Data ว่า ถึงแม้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรอิสระได้จริง ๆ แต่สิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือ ที่หากใช้ในทางที่ผิด ก็กลายเป็นดาบสองคมที่จะมาทำลาย Open Data เองได้ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างในท้องถิ่น ต้องเสนอเข้ากรมบัญชีกลาง หากอยากได้ข้อมูล ต้องไปสืบค้นจากเอกสารเย็บรวมกว่า 77 จังหวัด ซึ่งยากมาก ๆ ที่จะรวบรวมมาไว้ใน Open Data ดังนั้น จึงมีแต่ข้อมูลบางหน่วยงานเท่านั้นที่จะเห็นถึงนัยทุจริต ทั้งที่จริง ๆ มีสิ่งที่เข้าไม่ถึงมหาศาล

Open Data สามารถเป็นเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับการคอร์รัปชัน เพราะอาจจะมีผู้เสียประโยชน์จากกฎหมาย ใช้งานเพื่อทำให้ผู้ได้ประโยชน์จากกฎหมายสิ้นสภาพ จะได้เข้าไปเป็นผู้คอร์รัปชันเสียเอง

แนะยึดหลัก “เสรีนิยมใหม่” ลดภาระร่างกม.-คอรัปชั่น

การมี Open Data แม้จะมีข้อสังเกตถึงปัญหา แต่ก็มีแนวโน้มทำให้หลักนิติธรรมเพิ่มมากขึ้น และสิ่งดังกล่าวเป็น “บทบาทเชิงรับ” ที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง แต่ “บทบาทเชิงรุก” ที่ทำง่ายกว่านั้น คือ “การลดหรือยกเลิกกฎหมาย”

ด้าน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เสนอว่า ประเทศไทยต้องยึดหลัก “เสรีนิยมใหม่” หมายถึง ลดความใหญ่ของรัฐลง รัฐไม่ควรมีอำนาจมาก โดยเฉพาะกฎหมาย ต้องลดหรือยกเลิกให้ได้มากที่สุดยิ่งดีต่อหลักนิติธรรม เพราะการที่รัฐมีอำนาจมาก ก็จะมีหน่วยงานมาก ตรวสอบไม่ทั่วถึง การคอร์รัปชันก็มากตามไปด้วย

ไทยมีพระราชกฤษฎีกามากกว่าแสนฉบับ ตัวเลขอาจมากกว่านั้น ขนาดสำนักงานพระราชกฤษฎีกายังตอบตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ ยิ่งมีกฎหมายเยอะ เสรีภาพของเราก็จะน้อยลงตามไปด้วย นับเป็นการเสียผลประโยชน์ของประชาชนโดยไม่จำเป็น

ประธานคกก.บห. เกียรตินาคินภัทร เสนอว่า ไทยต้องเลียนแบบ “เกาหลีใต้” ที่ใช้หลักการ “เครื่องประหารกฎหมาย” หรือ “Regulatory Guillotine” ไล่ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น โดยมีประมุขของประเทศลงมาเป็นประธานในการยกเลิกกฎหมายด้วยตนเอง การทำงานจึงรวดเร็ว แก้ปัญหาได้ตรงจุดจริง ๆ ว่าควรยกเลิกกฎหมายใดที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และมีการเปิดเผยว่า ยกเลิกไปแล้วมากกว่าหมื่นฉบับ ในระยะเวลามากกว่า 20 ปี (เริ่มทำในปี 1998)

ประธานคกก.บห. เกียรตินาคินภัทร ยังเสนออีกว่า ไม่เพียงแต่ประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงเท่านั้นที่สามารถยกเลิกกฎหมายได้อย่างเป็นระบบ แต่เคนยา ประเทศที่เจริญเติบโตช้ากว่าไทย ยังสามารถกระทำได้ ดังนั้น ความเจริญของประเทศจึงไม่ใช่ข้ออ้าง อยู่ที่ว่าตั้งใจทำจริง ๆ หรือไม่

ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เลิกมองหารัฐบาลแสนดีแสนเก่ง ต้องปรับปรุงสถาบันการเมือง ลดบทบาทรัฐ ให้รัฐรับบทบาทรอง หลักนิติธรรมจะตามมา … ต้องมีความกล้าเยอะ ๆ โดยเฉพาะ สื่อมวลชน ต้องกล้าที่จะเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลมากกว่านี้

ทั้งนี้ ประธานคกก.บห. เกียรตินาคินภัทร กล่าวปิดท้ายว่า นักบริหารและนักเศรษฐศาสตร์ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการยกเลิกกฎหมาย นักกฎหมายไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะถนัดแต่เพิ่มกฎหมาย จะเป็นปัญหาได้

อ่านข่าว

White Collar Crime กอบโกย-รวยเร็ว เส้นทางลัด “อาชญากรรม

“ฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์” ทางรอดไทย “เลิกเร้นกาย” ในเวทีโลก

“เซมิคอนดักเตอร์” ต่อยอดเศรษฐกิจ โอกาสทองไทย “ต้องไขว่คว้า”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่