ถ้าเป็นช่วงปกติ ท่อซีเมนต์ที่ถูกต่อทับขึ้นไปหลายชั้นใกล้เมรุเผาศพ ของวัดใหม่ไทยเจริญ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพียงพอที่จะใช้เผาขยะทุกวันจากวัด และโรงเรียนอนุบาลวัดใหม่ไทยเจริญ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
แต่วันนี้ขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขวดแก้ว และเศษอาหาร จากบ้านเรือนในชุมชนละแวกใกล้เคียง เริ่มเกลื่อนกลาดรอบพื้นที่หลังเมรุเผาศพ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
ทาง อบต.นบพิตำ ได้ทำหนังสือไปยังเจ้าบ้านทุกหลัง ว่า อบต.ไม่สามารถจัดเก็บขยะทั้ง 9 หมู่บ้าน ในตำบลได้ หลังได้รับแจ้งจากทางเทศบาลนครนครศรีธรรมราชว่า ไม่อนุญาตให้นำขยะไปทิ้งในบ่อขยะของทางเทศบาลตามคำสั่งศาลปกครองนครศรีธรรมราช ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่มีที่ทิ้ง และนำมาทิ้งบริเวณนี้แทน
ครูบางคนระบุว่า กังวลใจ หากปัญหานี้ยังไม่มีทางออก ทำให้ขยะถูกนำมาทิ้งบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงเรียนก็พยายามปลูกฝังจิตสำนึก ในการลดขยะที่ต้นทางให้กับเด็ก ๆ ทั้งการขอให้นำกระป๋องน้ำที่นำกลับมาใช้ได้อีก เพื่อลดแก้วพลาสติก รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียน เพราะกลัวว่า ขยะจะเพิ่มขึ้น ในพื้นที่หลังเมรุเผาศพ
ตอนนี้โรงเรียนพยายามปลูกฝังเด็ก ๆ ซึ่งโรงเรียนมีขยะอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามแปรสภาพจากขวดน้ำพลาสติก จากเดิมจะทิ้ง เราก็บอกเด็ก ๆ ให้แต่ละห้องเก็บและเอามาขายให้ครู ครูจะติดต่อให้คนรับซื้อของเก่ามารับซื้ออีกทอดหนึ่ง
จากนั้นครูจะนำเงินไปให้เด็ก ๆ บางคนบอกว่า จะเอาเงินไปกินเลี้ยงปีใหม่ บางคนมาถามครูว่า จะเอาขวดน้ำจากบ้านมาขายด้วยได้ไหม ครูก็ยินดี
ขยะที่ถูกนำมากองไว้ริมถนน เพราะไม่มีที่ทิ้งมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว บางส่วนถูกลักลอบนำมาทิ้งในที่สาธารณะ ขณะที่บ้านบางหลังที่พอมีพื้นที่หรืออยู่ห่างไกลชุมชน ก็ใช้วิธีเผาเอง แต่บ้านที่อยู่ในเขตชุมชนเกิดปัญหาอย่างหนักเพราะไม่มีที่ทิ้ง
บ่อขยะของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีขยะสะสมมากกว่า 2 ล้านตัน และถูกดำเนินคดีฟ้องร้องจนต้องปิดบ่อขยะ และงดรับขยะจากพื้นที่นอกเทศบาลจาก อปท.ต่าง ๆ 50 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ทำให้ขยะในทุก อบต.ตกค้างในชุมชน
ซึ่งแม้ปัญหาขยะในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเป็นปัญหาใหญ่ และลุกลามจนนำไปสู่การต่อสู้ในศาลแล้ว แต่หากย้อนมองนโยบายของท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด การเสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังก็ยังมีน้อยมาก
ตรงกับความเห็นของนักวิชาการ บางคน เห็นว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. แม้หลายทีมที่เสนอตัว จะเขียนนโยบายต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับพบว่า ระหว่างการหาเสียง จะอาศัยความเป็นเครือข่าย เพื่อดึงคะแนนเสียงมากกว่า จะใช้นโยบายเพื่อดึงดูด
รศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า การเมืองในระดับท้องถิ่น แม้ผู้สมัครจะประกาศนโยบายว่า จะพัฒนาด้านต่าง ๆ แต่มันก็แตกต่างกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งเมื่อประกาศนโยบายแล้วคนก็จะจับตามอง ทวงถาม มันจึงยังเป็นเรื่องยากที่คนจะมองเห็นนโยบาย หรือขานรับนโยบายได้ชัดในการเมืองท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือ พอมาเป็นการเมืองท้องถิ่น ตัวนโยบายมักจะมาเป็นรอง ตัวเครือข่าย หรือเครือญาติ ที่จะมาเป็นปัจจัยสำคัญ หรือ ตัวแปรที่ทำให้เรียกคะแนนเสียงแทน
การแข่งขันที่ดุเดือดของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ทั้ง 4 คน ก็ใช่ว่า จะไม่มีนโยบายเกี่ยวกับปัญหาขยะเสียทีเดียว เพราะมีผู้สมัครหลายคน ชูนโยบายแก้ปัญหาขยะเป็นนโยบายหลักๆ เช่น การจัดการขยะค้างเก่า ให้เหลือประมาณร้อยละ 20 การลดขยะที่ต้นทาง หรือการสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือการแก้ปัญหาขยะแบบครบวงจร
หลังวันที่ 24 พ.ย.ที่การเลือกตั้งนายก อบจ.เสร็จสิ้น ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า นโยบายเหล่านี้ถูกนำมาทำจริงหรือไม่
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านข่าว :