วันนี้ (27 พ.ย.2567) นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวภายหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ว่า ที่ประชุมได้มีการสอบถามอย่างเข้มข้นใช้เวลา 2 ชม.ครึ่ง โดยได้มีการประเมินคำถามและคำตอบแล้ว และกรรมาธิการลงความเห็นต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น กรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องแผนที่การเวนคืนที่ดินของการรถไฟ ซึ่งที่ประชุมอยากให้เห็นภาพเป็นแผนที่ว่ามีการครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง
ขณะเดียวกันในส่วนของกรมที่ดิน ยังมีประเด็นอยู่บางส่วนที่ยังมีข้อสงสัย การตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตาม ม.61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งมีการถกเถียงอยู่เรื่องของการดำเนินการว่าชอบด้วยกฎหมายในการแต่งตั้งหรือไม่ เนื่องจากมีกฎหมายลูกกำหนดไว้เป็นกฎกระทรวงซึ่งทางกรรมาธิการได้ดำเนินการขอเอกสารเพิ่มเติมจากกรมที่ดิน ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
ส่วนการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ นายพูนศักดิ์ ระบุว่า หลายคนมีเอกสารสิทธิ์มีโฉนดที่ดิน แต่การได้มาของที่ดิน เป็นการได้มาซึ่งภาครัฐเป็นผู้ออกให้ แต่ในปัจจุบันอาจจะมีข้อพิพาทว่าโฉนดที่ดินตรงนี้เป็นการออกโดยไม่ชอบหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่ภาคประชาชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหามีการพูดคุยกันในที่ประชุม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวอย่างไร โดยที่ประชุมหวังว่า ที่ดินเขากระโดงมีหลายประเด็นที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นคนมีภาคส่วน นอกจากหน่วยงานราชการ 2 ส่วนที่เชิญมาในวันนี้
ขณะเดียวกัน นายพูนศักดิ์ ยังกล่าวว่า ปัญหาที่ดินเขากระโดงมีหลายประเด็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ได้ทำหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงาน โดยขอให้ส่งมาให้กมธ.ภายใน 15 วัน จากนั้นเมื่อรับเอกสารจะประชุมเพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนจะลงพื้นที่ที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์อีกครั้ง และจากนั้น กมธ.จะนัดประชุมใหญ่อีกครั้ง ช่วง ม.ค.2568 ก่อนสรุปประเด็นว่า จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร เบื้องต้นภาครัฐต้องมีมาตรการต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ด้านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และในฐานะเลขาฯกรรมาธิการ กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิ์ของกรมที่ดิน เป็นการเพิกถอนตามผลของคำพิพากษา ซึ่งไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรหรือการโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยเหตุผลอะไร แต่เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว ว่าที่ดิน 5,000 กว่าไร่ตรงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ด้วยเหตุผลที่ศาลใช้พิพากษา คือ การยืนตามหลักกฎหมายการได้มาซึ่งที่ดินของรัฐ ใน 2 กรณีหลัก คือ มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ และในกรณีที่ 2 คือ ได้มาด้วยการเข้าไปใช้โดยสภาพ ซึ่งในกรณีเขากระโดง ไม่ว่าพื้นที่ตรงนี้จะไม่ใช่แนวเส้นทางรถไฟ หรือบริเวณสถานี แต่เป็นที่ดินที่การรถไฟฯ ได้เคยเข้าไปใช้ประโยชน์ ศาลจึงมีคำพิพากษาที่ดินเป็นที่การรถไฟฯได้โดยยึดกรรมสิทธิ์มาโดยการใช้ประโยชน์ ซึ่งตราบใดยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาในการเพิกถอนที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ไปบังคับผลตามคำพิพากษา คือ กรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินชี้แจงว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามคำพิพากษา แต่ที่มีมติไม่เพิกถอน เนื่องจากการรถไฟไม่สามารถจะส่งแผนที่ของการรถไฟเข้าไปได้ จึงถือเป็นประเด็นปัญหาอยู่ ซึ่งแม้ว่ากรมที่ดินและการรถไฟฯ จะลงไปรังวัดพื้นที่ แต่ยังไม่มีการปรากฏแผนที่ฉบับนี้จึงเป็นกรณีที่ยังไม่ชัดเจน
นายเลาฟั้ง ยังกล่าวอีกว่า กรมที่ดินเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารและกำกับที่ดิน จึงเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ที่ต้องบังคับตามผลของคำพิพากษา แม้ว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกำหนดว่า คำพิพากษาในคดีแพ่งมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณี แต่มีข้อยกเว้นเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากคำพิพากษาของศาล สามารถใช้อ้างอิงกับบุคคลภายนอกได้ ซึ่งในกรณีนี้ที่ดิน 5,000 กว่าไร่ การพิพากษาว่า เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ถึงแม้จะใช้อ้างอิงกับบุคคลภายนอกได้ กรมที่ดินมีหน้าที่ที่จะต้องบังคับผลให้เป็นไปตามคำพิพากษา
อ่านข่าว : ราษฎรคัดค้าน! กรมที่ดินยันทำตามคำสั่งศาลปมรังวัดเขากระโดง
รฟท.ปฏิเสธเลือกปฏิบัติ กรณี “เขากระโดง” ยืนยันทำตามขั้นตอน
กมธ.ทหาร เรียก “รฟท.-มทบ.26” ชี้แจง กรณีสร้างค่ายทหารผิดจุดเลี่ยงพื้นที่ “เขากระโดง”