‘นพดล ปัทมะ’ ชี้คนเห็นต่างเรื่อง mou 44 สามารถใช้สิทธิ์ในกรอบรัฐธรรมนูญ แต่อย่าใช้ความเท็จใส่ร้ายรัฐบาล เหมือน กรณีเขาพระวิหารในอดีต เสนอใช้เวทีสภารับฟังความเห็น
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่มีผู้เห็นต่างในเรื่องการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาและ mou 44 นั้น ตนเห็นว่าในสังคมประชาธิปไตยการมีความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ความเห็นนั้นควรตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องดินแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การแสดงความคิดเห็นควรเห็นแก่บ้านเมือง ไม่ใช่วาระทางการเมือง และควรรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานของรัฐที่มีองค์ความรู้ และทํางานรักษาประโยชน์ประเทศมาอย่างต่อเนื่องด้วย เนื่องจากเพื่อนข้าราชการเหล่านี้ไม่มีวาระหรือส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง เช่น กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกองทัพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีการทําไอโอโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้ยกเลิก mou 44 อ้างว่าจะทําให้ไทยเสียสิทธิ์ทางเขตแดน หรืออ้างว่าไทยไปยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะไทยไม่เคยยอมรับเส้นของกัมพูชา และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ชี้แจง ประเด็นนี้ไปแล้ว แต่ก็มีการบิดเบือนอย่างต่อเนื่อง
นายนพดล กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีบางกลุ่มอาจนําประเด็น mou 44 ไปเคลื่อนไหวลงถนนนั้น คงต้องติดตามต่อไป ถ้ารัฐบาลดําเนินการรักษาผลประโยชน์ชาติได้ ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาร่วม ก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนม็อบจะจุดติดหรือไม่ ตนไม่ขอประเมิน แต่น่าจะขึ้นอยู่กับการดําเนินการของรัฐบาลมากกว่า ตนเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีแพทองธารและรัฐบาลนี้จะดูแลและเจรจาปกป้องประโยชน์ชาติอย่างเต็มที่ แต่ที่ต้องติดตามและเป็นห่วงคือไม่อยากเห็นการใช้ความเท็จมาโจมตีใส่ร้ายรัฐบาล เหมือนเช่นที่ตนเคยถูกใส่ร้ายในอดีต เมื่อครั้งตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2551 ว่า ทําให้ไทยเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะความจริงไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคําตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 แต่ ปัญหาคือในปี 2551 กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนทั้ง
1)ตัวปราสาทพระวิหาร
2) พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน เป็นมรดกโลก
แต่ตนได้เจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯก็ได้ พิพากษายกฟ้องตนและในคําพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทําถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทยและไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทําของตน ตนจึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนเหมือนที่เคยใช้ความเท็จโจมตีใส่ร้ายตนในอดีต เพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศมาแล้ว มีการสู้รบกันตามแนวชายแดน ประชาชนเดือดร้อน ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านถูกกระทบ และต่อมาในปี 2554 กัมพูชากลับไปยื่นศาลโลกเพื่อตีความคําตัดสินศาลโลกปี 2505 อีกครั้ง ซึ่งไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีนับร้อยๆ ล้านบาท