นายกฯแพทองธาร ลงพื้นที่ ‘แม่สาย’ ติดตามแผนการแก้ไขปัญาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ย้ำให้เร่งทำตามแผนทั้งระบบก่อนฝนปีหน้า พร้อมเปิดโครงการ ‘ปรับ ฟื้น คืน สุข เมืองล้านนา’ หลังแม่สายคืนสู่ภาวะปกตินักท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก
วันนี้ (1 ธันวาคม 2567) บริเวณคันดินตลาดสายลมจอย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เพื่อติดตามตรวจสอบความคืบหน้าการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ อุทกภัย ในภาคเหนือ โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม ที่อำเภอแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย จากผู้บริหารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. ) กระทรวงกลาโหม โดยกรมการทหารช่าง และกรมโยธาธิการและผังเมือง และส่วนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากแผนการดำเนินการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ขอให้เร่งดำเนินการโดยเร็วและให้ทันสถานการณ์ สำหรับเรื่องงบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อน และวางแผนให้ชัดเจน รวมทั้งให้กระทบประชาชนในพื้นที่ ให้น้อยที่สุด
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินตรวจคันดิน บริเวณตลาดสายลมจอยและทักทายประชาชนที่รอให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะเป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อหลายมาตรการให้ประชาชน ที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย
นายกรัฐมนตรีรับทราบรายงาน ความคืบหน้า ในแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม แม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) แบ่งเป็น 3 ระยะที่รัฐบาล ได้อนุมัติให้ดำเนินการ ตามข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรีในคราวประชุม ครม. เมื่อ 2 เดือน ที่ผ่านมา ได้แก่
1.แผนระยะเร่งด่วน (1 ปี) ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในลำน้ำ โดยการขุดลอกคูคลอง รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ ทำพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ในแม่น้ำสาย 15 กม. และแม่น้ำรวก 44 กม. มอบหมายให้กองทัพบก ดำเนินการให้เสร็จตามแผน
ซึ่งได้ออกแบบและจัดทำแผนพัฒนางานขุดลอก และทำพนังกันน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ระยะ 14.5 กม.ดำเนินการโดย กองทัพบก ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางเดือน ธันวาคม 2567 นี้ และให้เสนอแผนพัฒนางานขุดลอกและกลไกในการขับเคลื่อนในการประชุม JCR ครั้งที่ 4/2567 ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2567 ดำเนินการโดย Sub JCR และ กองทัพบก
หน่วยงานได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่ดำเนินการโดย สทนช. และ กองทัพบก แผนดำเนินการ ปลายเดือนธันวาคม 2567 – กลางเดือนมกราคม 2568 เพื่อไปดำเนินการขุดลอก + รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ + พนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ดำเนินการโดย กองทัพบก ซึ่งเป็นแผนดำเนินการ กลางเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2568 (ก่อนฤดูฝน ปี 2568)
สำหรับแผนระยะกลาง 1-3 ปี ประกอบด้วย 2 แผนงาน ได้แก่
1 โครงสร้างป้องกันน้ำท่วมและป้องกันตลิ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ
โดยให้วิเคราะห์จุดเสี่ยงการกัดเซาะตลิ่งหลังจากการขุดลอกในระยะเร่งด่วน ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กรมชลประทาน ( ชป.) จท.และ สทนช. แผนดำเนินการ มกราคม – มิถุนายน 2568 (6 เดือน) และสำรวจและออกแบบโครงสร้างป้องกันตลิ่ง ดำเนินการโดย ยผ. ชป. จท. สทนช. แผนดำเนินการกรกฎาคม 2568 – มิถุนายน 2569 (1 ปี) และให้ดำเนินการก่อสร้าง โดย ยม. และ อปท. แผนดำเนินการ 2570 – 2572 (3 ปี)
ส่วนโครงการขุดคลองผันน้ำ ให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ ดำเนินการโดย ชป. แผนดำเนินการ มกราคม – มิถุนายน 2568 (6 เดือน) และสำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบ ดำเนินการโดย ชป. แผนดำเนินการ กรกฎาคม 2568 – มิถุนายน 2569 (1 ปี) และให้เร่งดำเนินการก่อสร้าง โดย ชป.ตามแผนดำเนินการ ปี 2570 – 2572 (3 ปี)
สำหรับแผนระยะยาว (3-5 ปี) ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ โครงการจัดการพื้นที่รับน้ำชั่วคราว (แก้มลิง) โดยให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ ดำเนินการโดย กรมชลประทาน ปม. และ อส. แผนดำเนินการ ปี 2569 (1 ปี) และให้สำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบ ดำเนินการโดย กรมชลประทาน (ชป.) ดำเนิอนการตามแผนการ ปี 2567 (1 ปี) ทั้งนี้การก่อสร้างมอบให้ ชป. และ อปท. แผนดำเนินการ ปี 2571 – 2573 (3 ปี)
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินไปที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สายเพื่อติดตามการฟื้นฟูซึ่งวันนี้ได้กลับคืนสู่ภาวะปรกติแล้ว โดยมีนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ในส่วนบรรยากาศของการค้าขาย ที่แม่สายเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง