พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรม จัดโครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม ‘ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน’
วันนี้ (5 ธันวาคม 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม ‘ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน’ โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายโกมล พรมเพ็ง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวรวิวรรณ จตุรพิธพร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นางธารินี แสงสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
โอกาสนี้ ได้มีการจัดการอภิปรายในหัวข้อ ‘ถอดรหัสความสำเร็จการต่อต้านคอร์รัปชันของสิงคโปร์และเกาหลีใต้สู่การปฏิบัติของไทย’ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่นและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวในใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น โดยมีการระบุเป็นวาระสำคัญไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง เด็กที่เกิดใหม่จะต้องมีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และในส่วนหน้าที่ของภาครัฐ รวมถึงรัฐสภา ศาล รัฐบาล องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องส่งเสริมและสนับสนุน รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการ กลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมท้้งส่งเสริมการรณรงค์ให้ความรู้ ตลอดจนประชาชนที่ชี้เบาะแสต้องได้รับความคุ้มครอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีกฎหมาย แต่การคอรัปชันก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นปัญหาของเรา แต่เป็นปัญาใหญ่ของคนทั้งโลกด้วย รัฐธรรมนูญจะมีการกล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินใน 2 ประเด็น คือ
1) เรื่องยุทธศาตร์ชาติ รัฐควรจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมมาภิบาล
2) การมีเสรีภาพทางการเมืองที่ปราศจากความรุนแรง
โดยรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงได้ระบุไว้ว่า จะไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือความเป็นธรรม ความเป็นธรรมในที่นี้หมายถึง การบัญญัติกฎหมายจะขัดต่อหลักนิติธรรมไม่ได้ การบัญญัติกฎหมายจะไปละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ได้
กระทรวงยุติธรรม จะยึดมั่นความซื่อสัตย์และโปร่งใส การปฎิบัติอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรม และคุณธรรม ปฎิเสธการสนับสนุนการทุจริต และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานยุติธรรมด้วยหลักการว่า “ยุติธรรมต้านโกงโปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” กระทรวงยุติธรรมพร้อมร่วมเป็นพลังสำคัญของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย คือ การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index :CPI) ให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในปี พ.ศ. 2567
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดจัดงาน “สัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม” ขึ้น ภายใต้โครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรมเพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับบุคลากรส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การรวมพลังแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตของกระทรวงยุติธรรม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริต ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมกันหาแนวทางหรือมาตรการที่จะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป