วันนี้ (4 ธ.ค.2567) นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน มองปรากฏการณ์ของประชาชนต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซอก ยอล โดยเชื่อว่าทุกคนรู้สึกแปลกใจที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งการเมืองในเกาหลีใต้อาจมีความขัดแย้ง และเป็นไปได้ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้หรือไม่ เป็นเรื่องภายในของเกาหลีใต้ แต่ความกังวลจากคนภายนอกและนักสังเกตการณ์เชื่อว่าทุกคนต่างกังวลในทิศทางเดียวกันว่าสุดท้ายจะเห็นการรัฐประหารตัวเองของเกาหลีใต้หรือไม่ หากเกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะทำให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะทำให้สถานการณ์ของโลกมีความเลวร้ายลง
ในฐานะนักการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภาไทย มีเจตจำนงที่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ว่าของประเทศใด รวมถึงเกาหลีใต้ต้องการให้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเพื่อเป็นหลักเป็นฐานให้กับประเทศอื่นๆ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศใด เมื่อเห็นทางรัฐสภาของเกาหลีใต้คว่ำประกาศกฎอัยการศึกในการใช้อำนาจของประธานาธิบดี และสุดท้ายก็ยุติลงมองว่าเป็นทิศทางที่ดี
เมื่อกลับมามองย้อนตัวเราเองต้องการเห็นบรรยากาศเช่นเดียวกันนี้ ในการสร้างความเข้มแข็งประชาธิปไตยของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีวิธีการตอบโต้ที่มีความพยายามบางอย่าง ในการใช้อำนาจเพื่อให้นำไปสู่การรัฐประหาร การปรับปรุงกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจนายทหารระดับสูงมองว่าจะต้องมีการทบทวนปรับปรุงกฎหมายนี้ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2548 ที่การใช้อำนาจดังกล่าวนั้นไม่ต้องผ่านรัฐสภา
โดยพรรคประชาชนมีการยื่นแก้ไขร่างกฎหมายไว้ ทั้งร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับปรุงแก้ไขให้อำนาจรัฐสภาเกี่ยวกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจฝ่าย 7 วัน และหากมากกว่านั้นทางฝ่ายบริหารต้องขออนุญาตจากรัฐสภาพร้อมชี้แจงแผนวิธีการ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยดำเนินการ เปิดให้รัฐสภาตรวจสอบการใช้ อำนาจของฝ่ายบริหารได้
“ซึ่งเกาหลีใต้ทำให้ทั่วโลกเห็นว่ารัฐสภาสามารถที่จะยุติการใช้อำนาจของประธานาธิบดีได้ อาจไม่ทั้งหมด เพราะสุดท้ายเมื่อรัฐสภาคว่ำ ประธานาธิบดีต้องมีการรับลูกและประกาศต่อไป แต่จะเห็นว่าบทบาทของรัฐสภามีความเข้มแข็งอย่างมาก คิดคิดว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะนำมาทบทวนถึงกลไกภายใน ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศของเรามีการรัฐประหารบ่อยครั้ง และยังไม่รู้ว่าครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ซึ่งหวังว่าจะไม่มีดังนั้นควรใช้โอกาสนี้ทบทวนตัวเอง” นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์ ระบุต่อว่า มีความหวั่นใจ ว่าการใช้กฎอัยการศึกของทางเกาหลีใต้ ก็คล้ายกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2557 ซึ่งมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร แต่ก็ยังเห็นความแตกต่าง ที่ทางทหารของเกาหลีใต้ยังไม่ลงมือและประชาชนในเกาหลีใต้ มีความกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องประชาธิปไตยสูงมาก จึงคิดว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เดินหน้า
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีการต่อสู้เหมือนกันแต่ต้องยอมรับว่า การรัฐประหารที่ผ่านมาความเข้มแข็งของฝ่ายการเมือง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายต่าง ๆ ทุกคนพร้อมปฏิบัติตาม ในสิ่งที่คณะรัฐประหารกำหนด หากเป็นเช่นนี้ โอกาสที่จะได้เห็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่ได้เรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านว่าการรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ควรยอมรับ เพราะสร้างวิกฤตและปัญหาจำนวนมากตามมา ซึ่งหนึ่งในวิกฤตและปัญหาคือ จะเห็นว่าสภาต้องมาเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่ง คสช.และสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นปัญหากับประเทศไทยต่อไป ซึ่งควรระลึกได้แล้วว่า ปัญหาในการรัฐประหารแบบนี้และกองทัพอยู่เหนือประชาชนควรจะพอได้แล้ว มองว่าหลักการสำคัญคือกองทัพต้องอยู่ภายใต้พลเรือน ซึ่งหวังว่าจะใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไทย มีระบบกฎหมายที่เข้มแข็งและทำให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือนอย่างแท้จริง
อ่านข่าว :
จับตาสถานการณ์ หลังผู้นำเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก