รัฐบาลเผยส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย 10 เดือนปีนี้ ตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) รับผลิตภัณฑ์นมไทยเพิ่มขึ้น 11.3% ครองแชมป์ในอาเซียน พร้อมขยับขึ้น อันดับ 7 ของโลก
วันนี้ (14 ธ.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรายงานตัวเลขการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งถือเป็นสินค้าศักยภาพกลุ่มเกษตรแปรรูปของไทยไปยังต่างประเทศว่า มีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) พบว่าในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.67) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปยังตลาดโลกมูลค่า 603.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.3 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปยังตลาดคู่ FTA คิดเป็นมูลค่า 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.5% มีสัดส่วนสูงถึง 94.3 % ของการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด อาทิ ญี่ปุ่นขยายตัวมากถึง 165.6% ออสเตรเลีย ขยายตัว 132.2% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 19.1% ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมและครีมที่ไม่เข้มข้นและไม่หวาน นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม และนมและครีมที่เข้มข้นและหวาน และโดยเฉพาะอาเซียน ประเทศคู่ FTA ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 482.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.8% มีสัดส่วนถึง 79.9% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตลาดอาเซียนที่ขยายตัวได้ดี อาทิ กัมพูชา ขยายตัว 4.9% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 20.4% เมียนมา ขยายตัว 6.7% และสิงคโปร์ ขยายตัว 21.9
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดการค้าเสรี หรือ FTA อย่างมากเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้มากขึ้น ซึ่งตลาดโคนมไทยเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีศักยภาพที่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเสริมศักยภาพการส่งออกและเจรจาคู่ค้าให้ลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มจากนม เพื่อขยายตลาดการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันไทยยังเป็นผู้ส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมครองอันดับที่ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 66 โดยสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมทุกรายการได้รับแต้มต่อจาก FTA โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในประเทศอาเซียนทั้งหมดแล้ว และในวันที่ 1 ม.ค. 2568 ไทยมีกำหนดเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมภายใต้ FTA ไทย–ออสเตรเลีย และ FTA ไทย–นิวซีแลนด์ โดยจะลดภาษีเป็นศูนย์ และยกเลิกมาตรการโควตาภาษี (TRQs) ในรายการสินค้าที่เหลือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนมไปตลาดโลกมากยิ่งขึ้น” นายจิรายุ ระบุ