‘แพทองธาร’ นายกรัฐมนตรีมอบ “รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567” สร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ยกระดับขีดความสามารถในแข่งขัน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (18 ธันวาคม 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024) เพื่อเชิดชูเกียรติ 41 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศ ที่มีความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม โดยมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมคิด ประดิษฐกำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (กลุ่มงานการผลิต) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น คณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมงาน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมอบรางวัล อุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2567 ให้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานเกตเวย์) จังหวัดฉะเชิงเทรา และมอบรางวัลให้ผู้ประกอบการดีเด่น รวมทั้งสิ้น 41 รางวัล พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับอุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัลว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ หรือ SME ของประเทศไทยที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนในเรื่องเศรษฐกิจ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับประชาชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความคล่องตัวมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและวิกฤตต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพราะอุตสาหกรรมไทยมีส่วนสำคัญอย่างมาก
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้จัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นอย่างต่อเนื่อง มาตลอดกว่า 32 ปี ถือเป็นส่วนสนับสนุนเกิดแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่จะพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ขอให้ภาคอุตสาหกรรมรักษามาตรฐานที่ดี เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ ปี 2568 ขอให้ทุกคนมีความสุขมาก ๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง ขอให้เดินทางอย่างปลอดภัยและสดใสต้อนรับปีใหม่ ขอให้ทุกคนช่วยรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกันอย่างแข็งแรง
สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 มีสถานประกอบการสมัครเข้ารับการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 162 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมจำนวน 4 ราย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 9 ประเภทรางวัล รวม 99 ราย และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น 4 ประเภทรางวัล รวม 59 ราย โดยในแต่ละปีจะมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมให้กับสถานประกอบการเพียง 1 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากลและมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน มีการนำความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการนำนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนเอง และสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดหลายด้าน โดยมีผู้ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 41 ราย ได้แก่
– รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับรางวัลคือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานเกตเวย์) จังหวัดฉะเชิงเทรา
– รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 9 ประเภทรางวัล มีสถานประกอบการได้รับรางวัล 23 ราย
– รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น จำนวน 4 ประเภทรางวัล มีสถานประกอบการได้รับรางวัล 17 ราย
โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับรางวัลได้ที่ https://industryaward.industry.go.th/th นอกจากนั้น ในปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีรางวัลพิเศษมอบให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2567 คือ ทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador ซึ่งรางวัลนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมจากภาคเอกชนที่จะเป็นต้นแบบการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน