ผู้ว่าฯชัชชาติเตรียมพร้อมรับปีใหม่ ให้ คนกรุงเทพฯ อุ่นใจข้ามปี กทม. ประกาศมาตรการความปลอดภัยปีใหม่ 2568 พร้อมดูแลปัญหาจราจรและความปลอดภัยพื้นที่เคาต์ดาวน์ ด้วย CCTV ราชประสงค์โมเดล
วันนี้ (25 ธ.ค. 67)นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีใหม่ปีนี้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลิมฉลองจำนวนมากกว่าทุกปี เนื่องจากอากาศเย็น มีโครงการสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่เกิดขึ้น รวมถึงประชาชนบางส่วนไม่อยากเดินทางไกลไปต่างจังหวัด ซึ่งจากการสำรวจจะมีการจัดงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 258 งาน ผู้ร่วมงานต่ำกว่า 500 คน ประมาณ 244 งาน ผู้ร่วมงาน 500-1,000 คน ประมาณ 8 งาน และผู้ร่วมงานมากกว่า 1,000 คน ประมาณ 6 งาน โดย กทม. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 นาย เริ่มลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในการจัดงานแล้ว และในปีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม ด้วยกล้อง Face Recognition (FR) เพื่อจับภาพใบหน้าบุคคลต้องสงสัยประมาณ 32 กล้องอีกด้วย ส่วนสิ่งที่น่ากังวล คือ การจัดงานหลายแห่งมีการจุดพลุในแม่น้ำ ซึ่งขณะนี้มีเรือท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 47 ลำ จึงต้องประสานกับกรมเจ้าท่าในการจัดระเบียบการจราจรทางน้ำ การดูพลุ ไม่ให้เกิดความแออัด เพื่อความปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ กทม. ได้กำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพื่อให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 และคำสั่งกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามแผนแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย
1. สำนักการโยธา (สนย.) ตรวจสอบซ่อมแชมไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณถนนให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยวิบัติภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุ
2. สำนักเทศกิจ (สนท.) จัดเตรียมความพร้อมของกําลังเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การสนับสนุนในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของประชาชนรวมถึงประสานและให้คำแนะนําผู้ประกอบการที่มีการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ให้จัดกิจกรรมอย่างปลอดภัย
3. สำนักการแพทย์ (สนพ.) เตรียมพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่จัดกิจกรรมขนาดใหญ่ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง
4. สำนักอนามัย (สนอ.) ตรวจสอบสถานที่ผลิต สะสม และจําหน่ายดอกไม้เพลิง สถานประกอบการที่จําหน่ายอาหารและสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน และสถานบริการต่าง ๆ ตลอดจนจัดทำแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) จัดกิจกรรมเพื่อตรวจสอบความพร้อม และระบบรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะ ในระบบขนส่งมวลชน อาทิ รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที (BRT) การเดินเรือโดยสารในคลองภาษีเจริญและคลองผดุงกรุงเกษม โดยเฉพาะบริเวณที่ประชาชนจำนวนมากใช้เดินทางกลับพร้อมกันหลังจากสิ้นสุดกิจกรรม
6. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น และรณรงค์การลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
7. สำนักงานเขต (ประธานกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต) ประชาสัมพันธ์การจัดงานอย่างปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลความปลอดภัยสถานที่จัดงานที่มีความเสี่ยง เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรือโดยสารนักท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้จุดพลุ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการหรือผู้จัดงาน วางแผนการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้คำแนะนำประชาชนในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างปลอดภัย ทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2568 ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2568 เพื่อเป็นผู้ประสานงาน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 น. ถึงวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2568 เวลา 16.30 น. พร้อมประสานสำนักงานเขต (ศูนย์ฯ สนข.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและบริหารจัดการภัยในพื้นที่เขต โดยมีผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์อีกด้วย
สำหรับการติดต่อสื่อสารศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2568 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครจะประสานงานกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตทางโทรศัพท์และไลน์ โดยเป็นศูนย์กลางการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์พระราม โทร. 199 (สถานีดับเพลิงและกู้ภัย มูลนิธิ องค์กรเอกชน) และศูนย์อัมรินทร์ โทร. 0 2465 0532 ที่ประสานงานกับสำนักการแพทย์ โทร. 1646 กองโรงงานช่างกล โทร. 0 2354 0199 สำนักอนามัย โทร. 0 2245 4964 ศูนย์รับแจ้งทุกข์กรุงเทพมหานคร โทร. 1555 สำนักการโยธา โทร. 0 2245 4268 ศูนย์เพชรเกษม (13 เขต) ศูนย์อ่อนนุช (13 เขต) ศูนย์เสาวภา (13 เขต)
ในส่วนของการจัดงานหรือกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น สถานที่จัดกิจกรรม 17 แห่ง ได้แก่
1. ศูนย์การค้า centralwOrld
2. ศูนย์การค้า One Bangkok
3. โรงแรมคาเพลลา
4. เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนต์
5. ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21
6. ศูนย์การค้าซีคอน สแควร์
7. ช่างชุ่ย
8. โรงแรมเจซี เควิน
9. ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
10. ถนนข้าวสาร
11. วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
12. วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
13. วัดอรุณราชวรารามฯ
14. วัดดวงแข
15. วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (บางชัน)
16. วัดคลองครุ
17. วัดบุญศรีมุนีกรณ์
และมีสถานที่จุดพลุ 13 แห่ง ได้แก่
1. ศูนย์การค้า centralwOrld
2. ศูนย์การค้า One Bangkok
3. โรงแรมคาเพลลา
4. เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนต์ (กลางแม่น้ำ)
5. ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 (กลางแม่น้ำ)
6. ศูนย์การค้าซีคอน สแควร์
7. ช่างชุ่ย 8. โรงแรมเจซี เควิน
9. ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (กลางแม่น้ำ)
10. โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ (กลางแม่น้ำ)
11. โรงแรมเดอะ สลิล ริเวอร์ไซด์ (กลางแม่น้ำ)
12. โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ (กลางแม่น้ำ)
13. ริมลากูนคาเฟ่
โดยในส่วนของการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ของสถานที่จัดงานหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ศูนย์การค้า centralwOrld ศูนย์การค้า One Bangkok
● แก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมดูแลความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน ด้วย CCTV ราชประสงค์โมเดล
กรุงเทพมหานคร มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนราชดำริ ตามโครงการ “ราชประสงค์โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณแยกราชประสงค์ โดยราชประสงค์โมเดล เดิมมีกล้อง CCTV จำนวน 37 ตัว แบ่งเป็น
1. กล้องจราจร เพื่อใช้ดูจำนวน ดูปริมาณความหนาแน่นของรถบนถนน ใช้ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาบนถนนราชดำริและต่อเนื่อง
2. กล้องตรวจจับแผ่นป้ายทะเบียนรถฝ่าไฟแดงและจอดในที่ห้าม แต่ยังมีจำนวนไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ไม่สามารถถ่ายภาพทะเบียนรถที่ทำผิดทุกคันได้ครบถ้วน และกล้องดูสภาพการจราจรที่มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะตรวจจับการกระทำผิดของรถรับจ้างสาธารณะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จอดในที่ห้ามจอดหรือกลับรถในที่ห้ามกลับรถ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกล้องตรวจจับแผ่นป้ายทะเบียน (license plate) และกล้องสังเกตการณ์มุมสูง (over view) จึงดำเนินการติดตั้งกล้องเพิ่มอีกจำนวนวน 8 ตัว รวมเป็น 45 ตัว โดยเพิ่ม software ให้ประมวลผล AI ซึ่งจากเดิมมี 6 ตัว เป็น 27 ตัว เพื่อใช้ AI ตรวจจับทะเบียนรถที่ฝ่าฝืนจอดพร้อมเก็บใบหน้าผู้ขับขี่ และตรวจจับการฝ่าฝืนกลับรถ โดยกล้องที่จะเพิ่มแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. กล้องจับป้ายทะเบียน จอดแช่ กลับรถ
2. กล้อง over view สังเกตการณ์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประสานงานกับสำนักการโยธาเพื่อซ่อมแซม/เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกล้อง CCTV ให้ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบูรณาการข้อมูลที่ได้จากระบบฯ ระหว่าง กทม. และตำรวจ เพื่อออกใบสั่งลงโทษผู้กระทำผิด
วัตถุประสงค์ของการเพิ่มกล้อง ประกอบด้วย
1. เพื่อตรวจจับรถที่กระทำผิดในพื้นที่
2. เพื่อวิเคราะห์สภาพการจราจรและความหนาแน่นของรถในพื้นที่
3. เพื่อนำภาพไปใช้ให้ตำรวจออกใบสั่ง
4. เพื่อให้ได้ข้อมูลของทะเบียนรถที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซากในพื้นที่ ว่ามีจำนวนครั้งที่ทำผิด จำนวนใบสั่งที่ส่งไป และจำนวนครั้งที่ไปพบพนักงานสอบสวน
5. เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของรถรับจ้างที่เข้ามาในพื้นที่ว่าใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นานเท่าไรในแต่ละวัน รวมถึงช่วงเวลาที่มักจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ และพฤติกรรมการใช้เส้นทางของการวิ่งและการวนรถ-กลับรถบนถนน
นอกจากนี้ จะมีการใช้กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ body worn camera ถ่ายภาพและวิดีโอ ทั้งภาพป้ายทะเบียนและภาพหลักฐานอื่น ๆ ประกอบการออกใบสั่ง และใช้ศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายของยานพาหนะทุกประเภท รวมถึงการกระทำผิดประเภทอื่น ๆ ที่อาจเกิดบนถนนตามโครงการราชประสงค์โมเดลอีกด้วย