‘มาริษ เสงี่ยมพงษ์’ รมว.กต. ยืนยันบทบาทแข็งขันของไทยในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา ย้ำ ประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามของนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ย้ำบทบาทอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทยในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา และลดผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลตระหนักดีกว่า สถานการณ์ภายในเมียนมามีความซับซ้อน และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ดังนั้น การดำเนินการทางการทูตที่ผ่านมา จะต้องดำเนินการอย่างสมดุล หลากหลายมิติ และหลากหลายช่องทาง ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน และจะต้องประเมินถึงสถานการณ์ในการใช้แต่ละนโยบาย และบางอย่างต้องดำเนินการอย่างเงียบ ๆ หรือ Quiet Diplomacy พร้อมย้ำว่า ประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม และไม่ต้องการเห็นการสู้รบต่อไปในเมียนมา แต่หลาย ๆ ปัจจัยของเมียนมามีความเปราะบางและซับซ้อน โดยประเทศไทยต้องการเห็นเมียนมากลับมามีความสงบสุข มีเสถียรภาพ และชาวเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดี
นายมาริษ ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งของเมียนมา เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ที่ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมา จะต้องหาทางออกสำหรับอนาคตของเมียนมาเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยประเทศภายนอกไม่สามารถไปบีบบังคับให้เมียนมาเป็นไปตามในรูปแบบที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้าน จะสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุข ปรองดอง พัฒนาเศรษฐกิจ เดินหน้าประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งเมื่อเมียนมาสงบสุข มีการพัฒนา ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยด้วย พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งยาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ และการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านการทูตเชิงรุก อาทิ การใช้การหารือทวิภาคีกับเมียนมาในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น ที่ผ่านมามีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาอุกทภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น
นายมาริษ ยืนยันว่า รูปแบบการทูตไทยกับเมียนมาไม่ใช่รูปแบบเก่า และรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเมียนมา ทำให้ประเทศไทยต้องแสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา โดยให้เกิดความร่วมมือระหว่างเมียนมา กับเพื่อนบ้านของเมียนมา ในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งความมั่นคงชายแดน และการพัฒนาการติดต่อเพื่อให้การค้าขายชายแดนกลับมาเป็นปกติ
การทูตเชิงรุกของไทยรวมถึงข้อริเริ่มของไทยในการจัดการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มจากการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เมียนมา และไทย ในช่วงการประชุม BIMSTEC FM Retreat เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี ต่อมา เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ได้มีการจัดการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ฝ่าย ระหว่างจีน สปป.ลาว เมียนมา และไทย ในช่วงการประชุม MLC ณ จังหวัดเชียงใหม่ และล่าสุด ได้จัดการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย เมียนมา สปป.ลาว และไทย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน ทุกประเทศมาพบกัน เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่มีความห่วงกังวลร่วมกัน โดยเน้นการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในบริเวณชายแดน และความร่วมมือในการป้องกันและจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะประเด็นยาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ และการค้ามนุษย์ ซึ่งทุกประเทศได้ชื่นชมการดำเนินการของไทย โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเสริมการดำเนินการของอาเซียน ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่มาโดยตลอด นอกจากนี้ ในการหารือครั้งล่าสุดนี้ ผู้แทนเมียนมายังได้เล่าให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับแผนงานจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่ได้รับฟังพัฒนาการโดยตรง ทั้งนี้ สำหรับไทย มองว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องภายในของเมียนมา
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการหารือกันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาด้วย ทั้งนี้ ไทยจะสานต่อการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันการหาทางออกทางการเมืองในเมียนมาต่อไป
ในส่วนของปัญหาแรงงานต่างด้าวภายในประเทศไทย นายมาริษฯ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและหน้าที่ของหลายหน่วยงาน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเจรจาทางการทูต โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนชาวไทยเป็นหลักต่อข้อสอบถามเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อผู้พลัดถิ่นกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons: IDPs) และผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย
นายมาริษฯ ย้ำว่า ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้หนีภัยมาโดยตลอด โดยนอกจากการมอบเงินบริจาคผ่านกรอบอาเซียน ไทยได้ให้ความช่วยเหลือผ่านองค์การระหว่างประเทศ อาทิ โครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross; ICRC) และที่ผ่านมา ไทยให้การดูแลกลุ่มผู้หนีภัยมาโดยตลอดบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม ทั้งกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบ (ผภร.) ที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย – เมียนมามาเป็นเวลา 40 ปี โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ต่าง ๆ ในพื้นที่พักพิง และอำนวยความสะดวกไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม อีกทั้งยังดูแลกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบ ที่เข้ามาในประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาเมื่อปี 2564 ตามแนวทางของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ที่ดูแลโดยกองทัพบกและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังให้การดูแลกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาการทำงานตามกลไกของกระทรวงแรงงาน และสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางตามแนวชายแดนไทย – เมียนมานั้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกรอบนโยบายในการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการศึกษา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาต่อไป