การเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ของคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.เป็นประธาน ทำให้พบสาระสำคัญของปัญหา คือ การบังคับใช้กฎหมายและการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งแนวทางการแก้ไขคือ การประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการแจ้งเบาะแส เช่น การกันผู้รับเงินซื้อเสียงเป็นพยานในคดี การให้รางวัลตอบแทนผู้แจ้งเบาะแส
ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิกยกมาอภิปรายอย่างกว้างขวาง ก็คือ ข้อเสนอเรื่อง การให้ค่าเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนละ 500 บาท สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน ใช้งบประมาณรวม 20,000 ล้านบาท
ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขาธิการ กมธ.ชี้แจงว่า สังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ เมื่อรับเงินไปแล้วจะต้องตอบแทนคุณ ไม่เช่นนั้นจะเป็นบาป จึงอยากให้ กกต.หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีค่าพาหนะ จำนวน 500 บาทเป็นการให้ประชาชนตอบแทนหลวงและแผ่นดิน ไม่เลือกคนซื้อสิทธิขายเสียง
เช่นเดียวกับนายถาวร เทพวิมลเพชรกุล ส.ว.ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งที่ปราบปรามไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ประจำหน่วย หรือผู้อำนวยการเลือกตั้งในพื้นที่ไม่มีความรู้ ควบคุมการเลือกตั้งให้ยุติธรรมไม่ได้ โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่าบางพื้นที่มีนายตำรวจเป็นหัวคะแนน ทำหน้าที่จ่ายเงินซื้อเสียง
อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวอีกครั้งและข้อเสนอ ยุบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และให้ผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต ลำดับที่ 2 ด้วยคะแนนมากสุด 100 คนแรก มาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน และเสนอยกเลิกการให้ ส.ว.วรรคเว้น 2 ปีเพื่อเปิดทางให้สามารถลงสนามเลือกตั้ง ส.ส.ได้
ส่วนประเด็นร้อนที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เพื่อยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้นนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เสนอให้พ่วงปลดล็อกนายก อบจ.และอบจ. ไปด้วย