หน้าแรก Thai PBS พปชร.ไม่ติดใจ รทสช. ประกาศนโยบายคล้ายพรรค

พปชร.ไม่ติดใจ รทสช. ประกาศนโยบายคล้ายพรรค

83
0
พปชรไม่ติดใจ-รทสช.-ประกาศนโยบายคล้ายพรรค

วันนี้ (27 ก.พ.2566) นายอุตตม สาวนายน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงนโยบายต่าง ๆ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติประกาศบนเวทีปราศรัย จ.นครราชสีมา เมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีหลายนโยบายทับซ้อนกับของพรรคพลังประชารัฐ

นายอุตตม ชี้แจงว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้กังวล เรื่องนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ซึ่งได้ประกาศชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ พรรคพลังประชารัฐยินดีให้การสนับสนุน ไม่ต้องการเอาชนะคะคานกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะประชาชนและสื่อมวลชน ต่างก็รับทราบดีว่านโยบายต่าง ๆ มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นคนคิดริเริ่มและผลักดันจนเป็นรูปธรรม

เพียงแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกเรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งมีนายกฯ เป็นหัวหน้า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหิ้วเอานโยบายเหล่านั้น ติดตัวไปอยู่พรรคอื่นด้วย

นายอุตตม กล่าวว่า อย่างนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็แค่ย้อนกลับไปดูว่า โครงการนี้ เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนครั้งแรกในปี 2559 ซึ่งขณะนั้น คนที่เข้ามาคุมนโยบายเศรษฐกิจให้รัฐบาล คสช. คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่กลางปี 2558 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้กำกับดูแลหน่วยงานด้าน เศรษฐกิจและที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงการ ต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน

ขณะที่ตนเองและนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็เข้าร่วม ครม. ไปเป็นรัฐมนตรีคุม กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมคิด ซึ่งได้มีนโยบายต่าง ๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะแค่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

นายอุตตม กล่าวว่า เมื่อผมทำหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 แล้ว ส.ส. ทุกคนของพรรคพร้อมใจกันเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ท่านสมคิด และพวกผมก็ยังร่วม ครม. คุม กระทรวงด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าผลักดันนโยบายที่ริเริ่มเอาไว้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งพวกผมลาออกจาก ครม. ในปี 2563

ย้อนดูไทม์ไลน์ช่วง 8 ปี ก็จะรู้ว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันนโยบายเหล่านี้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ถ้าพรรคไหนเห็นว่านโยบายของเราดี จะนำไปสานต่อ พรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประวิตร ก็ยินดี ไม่ขัดข้อง

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน ให้ความเห็นว่า นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการริเริ่มของนายสมคิด อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพวกตน ตั้งแต่ช่วงรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จึงถือได้ว่าเป็นผลผลิตของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึง EEC

อย่างโครงการ EEC หรือโครงการเขตพิเศษภาคตะวันออก มาจากแนวคิดของ นายสมคิด และนายอุตตม ที่นำเสนอต่อรัฐบาล คสช. เพื่อพลิกฟื้นประเทศ แล้วเดินหน้าผลักดันต่อในนามพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นโครงการหลักของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะพลิกฟื้นด้านการลงทุนแล้ว ยังยกระดับ ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวกระโดดสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและการจัดการน้ำ ประชาชนก็ทราบดีว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ขับเคลื่อนมาตลอด ดังที่ปรากฏข้อมูลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ตลอดระยะเวลาที่ พล.อ.ประวิตร กำกับดูแลงานด้านน้ำได้ลงพื้นที่กว่า 79 ครั้ง ใน 55 จังหวัด ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงในหลายเรื่อง เช่น มีการเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน มีการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรถึง 1.33 ล้านครัวเรือน

ในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ ผมคิดว่าคนที่คิดและคนลงมือทำ จะเข้าใจและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงประชาชนได้ประโยชน์จริง มากกว่าการสั่งการตามหน้าที่

นายสนธิรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จริง ๆ แล้ว พรรคพลังประชารัฐไม่คิดว่าจะต้อง มาตอบโต้หรือช่วงชิงว่าใครเป็นเจ้าของนโยบาย เพราะทุกพรรคที่ร่วม รัฐบาลต่างก็ถือว่ามีส่วนร่วมกับทุกนโยบายที่ผ่านมติ ครม. แต่ในเมื่อสังคม เกิดความกังขา และสื่อมวลชนสอบถามมา เราก็พร้อมจะไล่เรียงเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่