หน้าแรก Voice TV ‘ศิริกัญญา’ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อน กฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาดล้มเหลว

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อน กฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาดล้มเหลว

87
0
‘ศิริกัญญา’-ชี้-ควบรวม-‘ทรู-ดีแทค’-สำเร็จ-สะท้อน-กฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาดล้มเหลว

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ สำเร็จ สะท้อนกฎหมาย-กลไกป้องกันผูกขาดล้มเหลว แนะฝ่ายการเมืองต้องถือธงนำ ดึงระบบขออนุญาตรวมธุรกิจกลับมา ยกเครื่อง กขค. เรียกร้องความกล้าหาญ-ซื่อตรงหลักการสู้ทุนผูกขาด

วันที่ 2 มีนาคม 2566 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเสร็จสมบูรณ์ และมีการตั้งบริษัทใหม่ ใช้ชื่อว่า ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ รวมถึงกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้อง คดีที่มีการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค เข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ศิริกัญญา กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณี ทำให้ประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพียง 2 เจ้าอย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

ผลกระทบจากการควบรวมที่จะเกิดขึ้น คงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำ เพราะผลการศึกษาจากทั้งสถาบันวิชาการ และผลการศึกษาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่าจะส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้น 10-200% สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา และคุณภาพการให้บริการอาจจะด้อยลงจากการแข่งขันที่ลดลง และตลาดมือถือจะอยู่ในจุดที่สภาวะการแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในจุดเดิม

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาจึงอยู่ที่กฎหมายที่ กสทช. ใช้ในการกำกับดูแลตลาดที่อ่อนปวกเปียก นำไปสู่ช่องโหว่รูใหญ่ที่ภาคเอกชนมองเห็นลู่ทางที่จะสามารถควบรวมกันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น และศาลอาญาคดีทุจริตฯ เองก็ใช้บรรทัดฐานเดียวกัน

โดยช่องโหว่รูใหญ่ เริ่มจากการแก้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เมื่อปี 2561 โดย กสทช. ตัดอำนาจการอนุญาตควบรวมธุรกิจออกไป เหลือไว้แค่การรับทราบและแค่กำหนดมาตรการเยียวยา แม้จะมีประกาศอีกฉบับเพื่อป้องกันการผูกขาดที่ให้อำนาจอนุญาตไว้ แต่ถ้าเอกชนยืนยันว่านี่คือการควบรวม ไม่ใช่การเข้าซื้อธุรกิจโดยผู้ถือใบอนุญาต ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ซึ่งก็คือกรณีนี้ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น (เดิม) เลือกที่จะไม่เทคโอเวอร์ดีแทค แต่ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อซื้อหุ้นต่อจากบริษัททั้ง 2 เพียงเท่านี้ก็หลุดพ้นจากขั้นตอนการขออนุญาต แล้วค่อยเปลี่ยนชื่อบริษัทที่ตั้งใหม่เป็น ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ อย่างที่ทำไปเมื่อวานนี้ (1 มีนาคม)

“เพื่อเช็กว่าเรื่องนี้ขัดกับสามัญสำนึกแค่ไหน ลองจินตนาการว่าในอนาคต หากทรู และเอไอเอส จะควบรวมธุรกิจกันจนค่ายมือถือเหลือ 1 เจ้า ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น” ศิริกัญญาระบุ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า แนวทางที่จะขันน็อตปิดรูรั่วช่องโหว่ทางกฎหมาย คือการสังคายนากฎหมายแข่งขันทางการค้าครั้งใหญ่ เพื่อให้ทุกกฎหมายอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เพราะอย่างน้อยในกรณีนี้ ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ยังจำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อควบรวมกิจการก่อน

ดังนั้น ประกาศการรวมธุรกิจของ กสทช. ต้องมีการแก้ไข เอาระบบขออนุญาตกลับมา ปรับปรุงเงื่อนไขการขออนุญาตให้รัดกุมยิ่งขึ้น และต้องยกระดับให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจในการกำหนดนโยบายแข่งขันทางการค้าของประเทศ คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค รวมไปถึงอำนาจที่ระงับยับยั้งการดำเนินนโยบายที่ขัดต่อหลักการแข่งขันที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ดี จะยกระดับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยไม่ยกเครื่องคณะกรรมการนี้ใหม่เลย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยการควบรวมซีพี-เทสโก้ ยังคงสร้างความกังขาให้ประชาชนจนถึงปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงตั้งแต่กระบวนการสรรหา ไปจนถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

“สิ่งที่ไม่สามารถตราลงในกฎหมายใด คือ ความกล้าหาญและซื่อตรงต่อหลักการที่จะสู้กับอำนาจทุนขององค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กสทช. ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายการเมืองเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการผูกขาด และอยากให้ธุรกิจแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้งปกป้องผลประโยชน์ประชาชนที่เป็นผู้บริโภค และผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ” ศิริกัญญา กล่าว

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลทิ้งท้ายว่า สำหรับกรณีการควบรวมทรู-ดีแทคนั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนและตรวจสอบว่า กสทช. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ แม้ตอนนี้ผลการไต่สวนยังไม่ออกมา แต่ก็น่าคิดว่าในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นแบบนี้ ประชาชนก็อาจเหลือความหวังน้อยเต็มทีว่าจะเอาผิด กสทช. ชุดนี้ได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่