หน้าแรก Voice TV 'เพื่อไทย' ค้าน กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง หวั่นเลือกตั้งโมฆะ ทำ 'ระบอบประยุทธ์' กลับมา

'เพื่อไทย' ค้าน กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง หวั่นเลือกตั้งโมฆะ ทำ 'ระบอบประยุทธ์' กลับมา

82
0
'เพื่อไทย'-ค้าน-กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง-หวั่นเลือกตั้งโมฆะ-ทำ-'ระบอบประยุทธ์'-กลับมา

‘ส.ส.กทม.เพื่อไทย’ ค้าน กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง หั่นแขวงกระจายไม่เชื่อมต่อ ส่อขัดกฎหมาย เสี่ยงทำผู้แทนฯ ไม่ยึดโยงกับประชาชน หวั่นเลือกตั้งโมฆะ ทำ ‘ระบอบประยุทธ์’ กลับมา

วันที่ 16 มี.ค. ที่พรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย สุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ ในนามว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ธีรรัตน์ ระบุว่า สืบเนื่องจากช่วงค่ำเมื่อวาน (15 มี.ค.) มีประกาศของ กกต. ส่งถึง กกต.กทม. ว่าจะใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 1 เป็นแบบหลักในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งผู้สมัครมองว่า ส่อขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการแบ่งเขตที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมือง ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

ธีรรัตน์ ยังย้ำว่า การแบ่งเขตในลักษณะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย อาจส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะไปได้ และจะตามมาสู่การมีนายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไปอีกครั้ง พร้อมย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปได้ แต่พรรคเพื่อไทยพร้อมเดินหน้าต่อในทุกกติกาให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นให้ได้ ยิ่งประชาชนเห็นว่ากติกาไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็จะยิ่งไม่โอนอ่อนผ่อนตามอำนาจเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะยังไม่ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพราะมองว่า อาจเข้าทาง กกต. ที่ใช้เหตุว่ามีพรรคการเมืองยื่นเรื่องต่อศาล และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ การขยับแต่ละครั้งก็มีแรงกระเพื่อม จึงมีมติในภาค กทม. ร่วมกันคือ ยังไม่ยื่นต่อศาล และปล่อยให้มีการเลือกตั้งต่อไปให้เสร็จ โดยอาศัยพลังของประชาชนให้เกิดแลนด์สไลด์

หั่นแขวงเป็นเสี้ยว ทำผู้แทนห่างพื้นที่

สุรชาติ อ้างถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 ที่กำหนดให้ยึดอำเภอ หรือเขตการปกครองเป็นเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตสามารถทำได้ แต่ต้องมีเขตปกครองหลักเป็นเขตเจ้าภาพ และกำหนดให้รวมเขตเพื่อทำเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง ตามแบบที่ 1 ของ กกต. จะมีถึง 12 แขวง ที่แบ่งโดยไม่มีเขตปกครองหลัก หรือเขตเจ้าภาพ แต่เป็นการนำเศษเสี้ยวของแขวงต่างๆ มารวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีอย่างน้อย 12-13 เขต เช่น เขตธนบุรี ที่มีเศษเสี้ยวของหลายแขวงมาประกอบกัน

“เวลานี้มีบางพรรคการเมืองยื่นเรื่องต่อศาลปกครองแล้ว ถ้า กกต. ยังยืนยันว่าจะจัดการเลือกตั้งแบบนี้ และศาลปกครองมีการตัดสินมาภายหลัง กกต. ต้องรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ สุรชาติ ยังชี้ถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบทฤษฎี Gerrymandering หรือแบ่งตามความนิยมของพรรคการเมืองบางพรรค เพื่อให้มีการได้เปรียบกัน ทำให้เกิดการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นกลุ่มก้อนเดียว ประชาชนไม่สามารถไปมาหาสู่กันโดยสะดวก บางเขตเลื้อยยาวเป็นงู มีการนำแขวงจากหลายเขตมารวมกัน ประชาชนจากต่างพื้นที่จะไม่มีความใกล้ชิดใกล้เคียงกัน

สุรชาติ ย้ำว่า ใน กทม. เป็นพื้นที่ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขต เพราะแต่ละเขตมีความแตกต่างกันเรื่องจำนวนประชากรที่เหลื่อมล้ำกันสูงมาก ดังนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 27 ให้ประชากรสมดุลกันทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจึงเสนอให้ครั้งนี้ ยึดการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบปี 2554 และ 2557 ไปก่อน แล้วในการเลือกตั้งครั้งต่อไปค่อยแก้ไขการแบ่งเขตใหม่ให้จำนวนประชากรสมดุล ซึ่งอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย

“การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ ต่อไปตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่สามารถทำงานแทนพี่น้องประชาชนได้ ต่อไปเราก็จะได้ ส.ส.ที่เป็นแต่สมาชิกสภา แต่จะขาดผู้แทนราษฎรที่จะลงพื้นที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองทุกพรรค นอกจากนำเสนอนโยบายดีๆ แล้ว ยังต้องคัดสรร ส่งเสริม ให้สมาชิกพรรคลงพื้นที่ดูแลประชาชนด้วย” สุรชาติ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่