หน้าแรก Voice TV ยูเรเนียม 2 ตันครึ่งหายในลิเบีย องค์กรจับตานิวเคลียร์งง ยังไม่รู้ใครเอาไป

ยูเรเนียม 2 ตันครึ่งหายในลิเบีย องค์กรจับตานิวเคลียร์งง ยังไม่รู้ใครเอาไป

100
0
ยูเรเนียม-2-ตันครึ่งหายในลิเบีย-องค์กรจับตานิวเคลียร์งง-ยังไม่รู้ใครเอาไป

หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติระบุว่า ยูเรเนียม 2.5 ตันหายไปจากพื้นที่ในลิเบีย ทั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ออกมาเตือนในครั้งนี้ หลังจากผู้ตรวจสอบเยี่ยมชมพื้นที่ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยตำแหน่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้

ทางหน่วยงานพบว่าถังบรรจุยูเรเนียมจำนวน 10 ใบที่มีแร่ยูเรเนียมอยู่ภายในได้หายไป โดย IAEA กล่าวว่า ทางหน่วยงานมีความกังวลว่า ยูเรเนียมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางกัมมันตรังสี เช่นเดียวกับความกังวลด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานยังเปิดเผยอีกว่า สถานที่ที่เก็บยูเรเนียมดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตควบคุมของรัฐบาล

ในแถลงการณ์ของ IAEA องค์กรกล่าวว่าทางหน่วยงานจะดำเนินการเพิ่มเติม “เพื่อชี้แจงสถานการณ์ของการกำจัดวัตถุนิวเคลียร์ และตำแหน่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าแร่ยูเรเนียมดังกล่าวหายไปเมื่อใด หรือใครเป็นผู้นำมันออกไปได้

แร่ยูเรเนียมดังกล่าวถูกนำออกจาก “สถานที่ห่างไกลทางตอนใต้ของลิเบีย” ตามข้อมูลของ สกอตต์ ร็อกเกอร์ จากองค์กรความริเริ่มภัยคุกคามนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นองค์กรความมั่นคงระดับโลกที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ “ถ้าคุณจะย้ายวัตถุนี้ออกจากสถานที่นี้ คุณย่อมต้องการมันจริงๆ” ร็อกเกอร์ระบุกับรายการ Newsday ของ BBC พร้อมกล่าวเสริมว่า ปริมาณแร่ยูเรเนียมที่ดูเหมือนจะถูกนำออกไปนั้น มีจำนวน “ประมาณ 1 ใน 10 ของปริมาณวัตถุทั้งหมด” ที่ถูกเก็บไว้ที่โรงงาน “ดังนั้นคุณจะเห็นว่ามันหายไปอย่างแน่นอน”

IAEA บอกกับ BBC ว่า พวกเขากำลังดำเนินการเพื่อชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงหาคำอธิบายถึงวิธีการที่ใช้เพื่อการนำวัตถุนิวเคลียร์ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว และอธิบายว่าตอนนี้แร่ยูเรเนียมทั้งหมดอยู่ที่ไหน แต่ในขั้นตอนนี้ ผู้ตรวจสอบกลัวว่าการไม่รับรู้ถึงตำแหน่งของแร่ยูเรเนียมว่ามันอยู่ที่ไหน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางกัมมันตรังสี รวมถึงความกังวลด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์

อย่างไรก็ดี วัตถุ “ในรูปแบบปัจจุบัน (หรือที่เรียกกันว่าเป็นก้อนเค้กสีเหลือง) ไม่สามารถถูกนำไปผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นจึงไม่มีความน่ากังวลว่าจะมีวัตถุเพียงพอ ที่จะนำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในขณะนี้” ร็อกเกอร์ระบุ นอกจากนี้ ยังมี “ข้อกังวลเกี่ยวกับกัมมันตรังสีน้อยมาก ต่อวัตถุอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” เขากล่าวเสริม

IAEA อธิบายว่าการเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวมีความซับซ้อนในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้ตรวจสอบต้องการเยี่ยมชมสถานที่ดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว แต่การเดินทางต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธในลิเบีย โดยตอนนี้ ลิเบียถูกแบ่งแยกประเทศอยู่ภายใต้การปกครอง ระหว่างรัฐบาลชั่วคราวในเมืองหลวงตริโปลี และรัฐบาลอีกหนึ่งแห่งทางพื้นตะวันออกที่นำโดยนายพลคาลิฟา ฮัฟตาร์

ในเดือน ธ.ค. 2546 ลิเบียประกาศละทิ้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมีอย่างเปิดเผย และตกลงที่จะจำกัดตัวเองในการครอบครองขีปนาวุธพิสัยไม่เกิน 300 กิโลเมตร แต่เนื่องจาก มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย ถูกโค่นลงจากอำนาจและเสียชีวิตลงในปี 2554 ส่งผลให้ลิเบียเกิดสงครามกลางเมือง และความแตกแยกอย่างรุนแรง

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-africa-64972945?fbclid=IwAR30cA5ajvNqQGTOgG3rC2HMfkSex7aD0Nu5ZNEFpcZYbavResugldx3XIg

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่