หน้าแรก Voice TV ฟอร์ติฟายไรท์ จี้ทางการไทยสอบการส่ง 'ชายสามคน' กลับไปเมียนมา หวั่นถูกทรมานเสียชีวิต

ฟอร์ติฟายไรท์ จี้ทางการไทยสอบการส่ง 'ชายสามคน' กลับไปเมียนมา หวั่นถูกทรมานเสียชีวิต

87
0
ฟอร์ติฟายไรท์-จี้ทางการไทยสอบการส่ง-'ชายสามคน'-กลับไปเมียนมา-หวั่นถูกทรมานเสียชีวิต

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) เรียกร้องประเทศไทยควรสอบสวนเหตุตามรายงานว่า มีการบังคับส่งกลับชายชาวเมียนมาสามคน ซึ่งเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกทรมานหรือเสียชีวิตลงในเมียนมา และทางการไทยควรเร่งดำเนินการตามกลไกคัดกรองระดับชาติ เพื่อป้องกันการส่งกลับในอนาคต

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีรายงานว่าทางการไทยผลักดันชายสามคนกลับไปเมียนมา และส่งมอบตัวให้กับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา จากภาพถ่ายที่มีการวิเคราะห์โดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ ผู้ชายทั้งสามคนถูกทางการไทยควบคุมตัว หลังจากนั้นพบว่าสองคนถูกมัดมือมัดเท้าและปิดตาอยู่ด้านหลังของรถยนต์ ซึ่งตามรายงานระบุว่าเป็นการควบคุมตัวโดยกองกำลังพิทักษ์ชายแดน 

“ควรมีการสอบสวนเหตุการณ์นี้โดยทันที ทางการไทยไม่ควรผลักดันชายเหล่านี้กลับไปเมียนมา ที่ซึ่งยังคงมีการทรมานและการประหัตประหารอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ

“มีความเสี่ยงอย่างมากที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมา จะต้องตกเป็นเหยื่อของการทรมานและการประหัตประหาร ประเทศไทยควรดำเนินการคัดกรองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งตัวผู้ใดกลับไปยังสถานการณ์ที่พวกเขาอาจเผชิญการทรมาน การประหัตประหาร และการละเมิดอื่น ๆ” แพททริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการรณรงค์ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว 

นอกจากนี้ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้รับเอกสารที่รั่วไหลออกมา ซึ่งเชื่อว่ามาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทย ระบุว่า “บุคคลทั้ง 3 ราย ตามที่ปรากฏในข่าวสารที่ถูกส่งต่อ ได้ถูกหน่วยงานความมั่นคงของไทยควบคุมตัว เมื่อ 31 มี.ค. 66 เวลาประมาณ 14.00 น. ณ จุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ระหว่างที่กำลังโดยสารรถประจำทาง” 

ในเอกสารระบุชื่อชายทั้งสามคนว่าคือ ซอเพียวเล อายุ 26 ปี, เต็ดเนวุน อายุ 31 ปี และโกตี้หะ อายุ 38 ปี เอกสารนี้ระบุต่อไปว่า “จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการส่งทั้ง 3 ราย มาที่ห้องกัก ตม.จว.ตาก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดำเนินการส่งตัวกลับ ตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. 66 จึงได้ทำการผลักดันผู้ถูกจับ ทั้ง 3 ราย รวมกับผู้ต้องกักสัญชาติพม่ารายอื่น ๆ กลับไปยังเมียนมา

เอกสารที่รั่วไหลออกมามีเนื้อหาสอดคล้องกับรายงานข่าวและโพสต์โซเชียลมีเดียจำนวนมาก ที่ระบุถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ทางการไทยผลักดันชายเหล่านี้กลับไปเมียนมาในทางเรือข้ามแม่น้ำเมย ใกล้กับหมู่บ้านอิงยินเมียอิงในรัฐกะเหรี่ยง เมียนมา โดยเชื่อว่าชายชาวเมียนมาทั้งสามคนเป็นทหารของกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่สนับสนุนประชาธิปไตย ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับการทรมานและการประหัตประหารในเมียนมา

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ไม่สามารถยืนยันได้เองว่า เอกสารดังกล่าวเป็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติจริงหรือไม่ ทั้งไม่สามารถยืนยันที่อยู่และสถานะปัจจุบันของชายเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดีวิเคราะห์จากภาพถ่ายทั้งสามใบ หนึ่งในนั้นปรากฏอยู่ในเอกสารที่รั่วไหลออกมาของสมช. ซึ่งดูเหมือนว่าตอนนั้น ชายทั้งสามคนกำลังอยู่ใต้การควบคุมตัวของกองกำลังของไทย ส่วนในภาพต่อมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์เชื่อว่าเป็นภาพขณะที่พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยทหารของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ในเมียนมา

ในภาพถ่ายใบหนึ่งที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้มา เป็นภาพขณะที่ซอเพียวเล, เต็ดเนวุน และโกตี้หะ ถูกจับให้นั่งอยู่ในแถวหน้า โดยด้านหลังเป็นผู้ชายยืนอยู่เจ็ดคน แต่งกายด้วยชุดเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ชุดทหาร และตำรวจของประเทศไทย

ป้ายที่อยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ไทยระบุว่า “ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก” เป็นภาษาไทยและอังกฤษ ฟอร์ตี้ฟายไรต์สามารถยืนยันได้ว่า ชายที่นั่งอยู่ตรงกลางในภาพถ่าย คือ เต็ดเนวุนที่ถูกควบคุมตัว โดยเขาสวมกางเกงกีฬาขาสั้น และมีรอยสักเด่นชัดบนหน้าแข้งทั้งสองข้าง บนหน้าแข้งขวาเป็นภาพผู้หญิงใส่ชฎา และบนหน้าแข้งซ้ายเป็นลวดลายแบบชาวโพลีนีเซีย

อีกภาพหนึ่งซึ่งฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้มา มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเป็นภาพที่ทหาร BGF ในเมียนมาถ่ายไว้ เป็นภาพของชายที่ถูกปิดตาสองคนถูกจับให้นอนทอดยาวบนเบาะและตรงที่วางเท้าด้านหลังของรถกระบะสีดำ พวกเขาถูกใส่กุญแจมือและล่ามโซ่เข้ากับที่จับมือภายในรถยนต์ ชายที่นอนอยู่บนเบาะด้านหลังไม่สวมรองเท้า ที่ข้อเท้ามีการล่ามตรวน และสามารถสังเกตเห็นรอยสักอย่างเด่นชัดบนหน้าแข้งของเขาทั้งสองข้าง ส่วนตรงเบาะคนขับด้านซ้าย มีเสื้อกั๊กแบบทหารสีกากีเข้มแขวนอยู่ 

สี่วันก่อนการจับตัวชายทั้งสามคน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดหลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่อาจขอรับความคุ้มครองตาม “กลไกคัดกรองระดับชาติ” (National Screening Mechanism) ซึ่งกลไกคัดกรองนี้จะช่วยป้องกันการส่งกลับ (refoulement) ได้

อย่างไรก็ดี ทางการไทยยังไม่ได้นำกลไกนี้ไปบังคับใช้ และฟอร์ตี้ฟายไรต์พบว่าในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังคงมี ข้อยกเว้นการบังคับใช้ที่เป็นปัญหา โดยตามข้อปฏิบัตินี้ชี้ว่า มีเฉพาะบุคคลเพียงบางคนเท่านั้นที่จะสามารถขอรับการคุ้มครอง และมีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมในกระบวนการคัดกรองดังกล่าว

“แม้จะมีการประกาศพันธกิจ และมีกฎหมายที่ให้ความหวังอย่างชัดเจนเพื่อใช้ป้องกันการส่งกลับ ประเทศไทยยังคงบังคับส่งกลับบุคคลกลับไปสู่สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกทรมาน ประหัตประหาร และอาจถูกสังหาร

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบชะตากรรมของชายหนุ่มทั้งสามคนนี้ แต่พวกเขาก็ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของกองทัพเมียนมา ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการตามกลไกคัดกรองระดับชาติเพื่อป้องกันการส่งกลับโดยด่วน”

ประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะต้องป้องกันการบังคับส่งกลับ หรือ การส่งกลับ ข้อห้ามต่อการส่งกลับ ถือเป็นส่วนหนึ่งตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และมีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่ง ตามหลักการดังกล่าว รัฐมีพันธกรณีจะต้องประเมินความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน ประหัตประหาร หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่น ๆ

ก่อนจะดำเนินการให้ส่งตัวบุคคลไปยังประเทศอื่น หน้าที่ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครอง หรือร้องขอความคุ้มครองจากรัฐดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม นอกจากนั้น ดังที่มีการชี้แจงโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลักการไม่ส่งกลับ ไม่เพียงมีผลบังคับใช้ต่อผู้ลี้ภัย แต่ “ยังมีผลบังคับใช้ต่อผู้เข้าเมืองทุกคนในทุกกรณี ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะของการเข้าเมืองอย่างไรก็ตาม”

มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทย ที่เพิ่งประกาศใช้ กำหนดว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับหรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย” 

มาตรา 12 ยังกำหนดเพิ่มเติมว่า “พฤติการณ์พิเศษใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ในเดือนมกราคม 2566 ฟอร์ตี้ฟายไรต์และพลเมืองชาวเมียนมา 16 คน ได้ฟ้อง คดีอาญา กับสำนักงานอัยการสูงสุด สหพันธรัฐเยอรมนี ตามหลักเขตอำนาจศาลสากล เพื่อเอาผิดกับนายพลอาวุโสของกองทัพเมียนมาและบุคคลอื่น ในข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นับแต่กองทัพเมียนมาได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังมี บันทึกข้อมูลความทารุณโหดร้าย ของกองทัพเมียนมา โดยอาชญากรรมเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนหลบหนีออกจากเมียนมา และหลายคนเข้ามาแสวงหาความคุ้มครองในประเทศไทย

สืบเนื่องจากการทำรัฐประหารในเมียนมา รัฐบาลไทยได้ตรึงกำลังทหารเพิ่มขึ้นบริเวณพรมแดนเมียนมา-ไทย และ สั่งการให้หน่วยงานผลักดันผู้ลี้ภัย กลับไปเมียนมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้มีการเก็บบันทึกข้อมูล การส่งกลับผู้ลี้ภัย จากประเทศไทยตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

“ต้องมีผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในกฎหมายของไทย แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกในอนาคต”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่