หน้าแรก Voice TV จี้ปลัด ทส. ปลด 'ชัยวัฒน์' ออกราชการ ปมเอี่ยวอุ้มฆ่า ‘บิลลี่’ นักสิทธิ ‘บางกลอย’

จี้ปลัด ทส. ปลด 'ชัยวัฒน์' ออกราชการ ปมเอี่ยวอุ้มฆ่า ‘บิลลี่’ นักสิทธิ ‘บางกลอย’

80
0
จี้ปลัด-ทส.-ปลด-'ชัยวัฒน์'-ออกราชการ-ปมเอี่ยวอุ้มฆ่า-‘บิลลี่’-นักสิทธิ-‘บางกลอย’

ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงปลัด ทส. สั่ง ‘ชัยวัฒน์’ กับพวกออกจากราชการ ปมเอี่ยวอุ้มฆ่า ‘บิลลี่’ นักสิทธิ ‘บางกลอย’

21 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (21 เม.ย.) เวลาประมาณ 13.27 น. หน้าอาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร ได้ร่วมลงชื่อและจะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับพวกจำเลยทั้ง 4 คน เพื่อเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น โดยขอให้มีคำสั่งหรือดำเนินการให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 4 รายออกจากราชการโดยด่วน เนื่องจากชัยวัฒน์ และพวกตกเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรง หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและข้อหาอื่นๆ 

องค์กรภาคประชาชนจำนวน 10 องค์กรที่ได้ร่วมลงนาม ได้แก่ 1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) 2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) 3. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 4. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี 5. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) 6. ภาคีSaveบางกลอย 7. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) 8. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 9. เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

สำหรับคดีอุ้มฆ่า ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดินทำกินและสิทธิชาติชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ได้ถูกจับกุม และเอาตัวไปโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อ 17 เม.ย. 2557 และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครสามารถติดต่อหรือทราบข่าวคราวของเขาอีกเลย จนเวลาล่วงเลยมากว่า 9 ปี อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและข้อหาอื่นๆ และจะมีการนัดสืบพยานคดีนี้ครั้งแรก ในวันที่ 24 เม.ย นี้ เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป 

เกรียงไกร ชีช่วง ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยง เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวก่อนการยื่นหนังสือว่า การมายื่นหนังสือต่อปลัด ทส. เนื่องจากเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน ให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม เกรียงไกร ตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานกระทรวงทรัพย์ฯ ด้วยว่า หลายคดีที่เกิดขึ้น เป็นคดีความอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แต่กระทรวงฯ กลับไม่ได้แสดงเจตจำนงที่ดี หรือพยายามจะทำให้คดีนี้คลี่คลายไปในทิศทางที่ถูกที่ควร

เกรียงไกร ระบุต่อว่า สิ่งที่อยากจะถามเพิ่มเติมคือกระทรวงทรัพย์ฯ มีการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมหรือว่าเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานกรณีการสอบสวนความผิดบุคลากรของตัวเองหรือไม่ เพราะกรณีของชัยวัฒน์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีเมื่อปี 2553 การไล่เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และอพยพพวกเขาลงมาข้างล่าง หรือกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่าบิลลี่ ทำไมต้นสังกัดอย่างกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ทำอะไรเลย แต่กลับเลื่อนตำแหน่งให้ชัยวัฒน์ 

“ประชาชนมีข้อกังวลและข้อสงสัยด้วยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ยังได้รับตำแหน่งในระดับสูงขึ้นไปอีก ซึ่งค่อนข้างย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเราเลยอยากจะถามว่าที่นี้เองที่เป็นต้นคิดเรื่องการอนุรักษ์จริงใจหรือเปล่า หรือว่าแค่จอมปลอมกับประชาชนหรือคนไทย หรือว่ากับนโยบายต่างๆ เหล่านี้ ที่นี่เองรึเปล่าที่สองมาตรฐานเพราะเราก็รู้ว่ามีข้าราชการหลายคนที่มีคดีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ ก็ถูกให้ออก และปฏิบัติที่แตกต่างจากราชการคนนี้” เกรียงไกร กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือน 7 ก.พ. 2566 เว็บไซต์ PPTV รายงานว่า จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงนามคำสั่งให้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็น ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งทำหน้าที่ดูภาพรวมการจัดการอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

ต่อประเด็นที่ว่ามีความกังวลว่าการดำรงตำแหน่งของชัยวัฒน์ ในฐานะ ผอ.สำนักอุทยาน จะส่งผลต่อรูปคดีชั้นศาลหรือไม่นั้น ทางเกรียงไกร มองว่า อาจจะมีผลต่อรูปคดีแน่นอน และอาจส่งผลต่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชาติพันธ์ุในแก่งกระจานด้วย ในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งของเขา 

“การตัดตอนโครงการที่จะไปแก้เพื่อความยั่งยืน ก็มีผลนะครับ อย่างเช่นการพัฒนาเส้นการคมนาคม ในพื้นที่เสี่ยงในการเข้าพื้นที่บางกลอย ก็ยังอยู่ในอุทยาน ถ้าอุทยานไม่พิจารณา และส่งต่อไปให้ทำเส้นทางที่เหมาะสมได้ในบางจุด พี่น้องก็จะอยู่ในความเสี่ยง” เกรียงไกร กล่าวถึงข้อกังวล 

เกรียงไกรเสนอด้วยว่า ทาง ทส. น่าจะให้คนที่เหมาะสมกว่าเข้ามาทำงานแทนคนที่มีคดีติดตัว ซึ่งตอนนี้สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ เพราะอยู่ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์ตัวเองในคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิร้ายแรง แต่ยังได้รับการเลื่อนตำแหน่งอยู่

“หาบุคลากรที่เหมาะสมดีกว่า สังคมจะไม่เข้าใจว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนด้วย มีคดีเยอะแยะแต่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น” เกรียงไกร ระบุ

หลังจากให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ตัวแทนภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ เพียงจันทร์ คล้ายสินธุ์ ผอ.ส่วนประสานงานเรื่องร้องเรียน กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเรื่องร้องเรียนจะขึ้นไปตามระบบราชการ และนำไปสู่การพิจารณาของปลัดกระทรวงฯ ต่อไป 

ทั้งนี้ จากการสอบถามกับตัวแทนผสานวัฒนธรรม ที่ดูแลคดีของบิลลี่ มาตั้งแต่ต้น ถึงประเด็นที่ว่าทำไมคดีนี้ถึงใช้เวลานานถึง 9 ปี อัยการถึงสั่งฟ้องนั้น ทางตัวแทนมูลนิธิฯ ระบุว่า คดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีความแตกต่างจากคดีความอาญาทั่วไป เนื่องจากต้องมีการสืบสวนหลักฐานหลายอย่างจนมีมูลพอสมควร อัยการถึงจะสั่งฟ้องคดีไปที่ศาล ดังนั้น ขั้นตอนการสั่งฟ้องถึงใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าปกติ 

สำหรับ 24 เม.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ณ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดสืบพยานคดีนี้ครั้งแรก นับแต่บิลลี่หายตัวไปครบ 9 ปี กำหนดนัดสืบพยานโจทก์จำนวน 3 ปาก รวมถึงนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาบิลลี่ และนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาบิลลี่ 

รายละเอียดหนังสือ

เรื่อง ขอให้มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ออกจากราชการไว้ก่อน

เรียน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. สำเนาคำฟ้องคดีอาญา หมายเลขคดีดำหมายเลข อท166/65

2. สำเนาหนังสือของนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนขอให้สั่งให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ออกจากราชการ ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 และ 15 พฤศจิกายน 2565 ตามลำดับ

3. หนังสือตอบกลับจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ได้มีหนังสือ

สืบเนื่องจากกรณีที่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหลานชายของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าว ได้ถูกจับกุมและเอาตัวไปโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรรมของเขาอีกเลย จนกระทั่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และพนักงานอัยการได้ร่วมกันสอบสวนคดีจนได้พยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จับกุม นายพอละจี รักจงเจริญ ไปนั้นได้ร่วมกันกระทำผิดต่อ นายพอละจี รักจงเจริญ ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 พนักงานอัยการจึงได้ยื่นฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมกับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีก 3 คน ได้แก่ นายบุญแทน บุษราคัม นายธนเสฏฐ์ หรือ ไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ เป็นจำเลย ต่อศาล คดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดีกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญา หมายเลขคดีดำหมายเลข อท166/65 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 โดยที่ผ่านมานางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนได้เคยยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ขอให้สั่ง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวก ออกจากราชการ อีกด้วย รายละเอียดปรากฏตาม สิ่งที่ส่งมาด้วย 2 หลังจากนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ได้มีหนังสือตอบกลับมายังองค์กรเครือข่าย รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนและและเครือข่าย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 101 บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้น แต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณาหรือผลแห่งคดีได้” ประกอบกับ มาตรา 83 ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใด อันเป็นข้อห้าม ตาม (4) ต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ และตามมาตรา 84 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ มาตรา 81 และมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ตามมาตรา 83 ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิด นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกทั้ง 4 คน ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา หมายเลขคดีดำ อท 166/65 ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาความผิดที่ร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น รายละเอียดปรากตามสำเนาคำฟ้อง หมายเลข 1 โดยคดีดังกล่าวจะเริ่มการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24 เมษายน 2566 นี้แม้คดียังไม่พิพากษา แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าราชการไทยให้มีความน่าเชื่อถือต่อประชาชนน้อยลงอีกด้วย 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนและและเครือข่าย ขอเรียนให้ท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์ฯ กับพวก 4 คน ทราบว่า ขณะนี้ท่านยังไม่มีคำสั่งหรือดำเนินการเพื่อให้มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกทั้งสี่ ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายข้างต้น แต่ยังคงปล่อยให้จำเลยทั้งสี่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป ทั้งบางคนยังได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งอีกด้วย อาจถือว่า เป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเชื่อว่า จะมีผลทำให้เกิดความความเสื่อมเสียต่อทางราชการ ก่อผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ความไม่ปลอดภัยต่อครอบครัวผู้เสียหายและพยานและส่งผลต่อการดำเนินคดี โดยอาจจะเป็นไปได้ว่า นายชัยวัฒน์กับพวกฯ จะอาศัยตำแหน่งหน้าที่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักหลักฐานในคดีและเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายในการเข้าถึงความยุติธรรมได้ 

ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ องค์กรและเครือข่ายดังมีรายชื่อข้างท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้ท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาของ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกทั้ง 4 คน ดังกล่าวข้างต้น ปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยไม่ละเว้น โดยขอให้ท่านมีคำสั่งหรือดำเนินการให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมาย โดยด่วน 

ขอแสดงความนับถือ

1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

3. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

4. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

5. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

6. ภาคี Save บางกลอย 

7. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

8. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

9. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

10. เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN)

ภาพปกจาก : ประชาไท

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่