‘อรรถจักร์’ ตั้งข้อสังเกตกรณี กกต. ใช้ ม.151 สอบกรณี ‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ถือเป็น ‘เกมส์การเมือง’ เพราะจะเป็นความผิดส่วนบุคคล เพื่อลดกระแสต่อต้านของมวลชนลง ชี้ว่าเป็นเพทุบายทั้งหลายของบรรดา “น้ำน้อย” เพทุบายทั้งหลายของบรรดา “น้ำน้อย”
วันที่ 10 มิ.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เผยแพร่ข้อความจาก ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในหัวข้อ กกต. กับการ “หาทาง” ลงโทษที่เน้นสำนึกส่วนบุคคล ระบุว่า เลือกมาตรา 151 นี้ ก็เพราะต้องการเลี่ยงการเปรียบเทียบกับคดีการถือหุ้นสื่ออื่นๆ ที่จะทำให้ผลการตัดสินเป็นคุณแก่กรณีคุณพิธา ขอช่วยกันจับตามองเพทุบายทั้งหลายของบรรดา “น้ำน้อย” ในสังคมไทย ที่พยายามดับไฟแห่งความหวังของพวกเรา และต้องช่วยกันเตือนสติพวกเขา (ที่คงเหลือน้อยนิด) ว่าพวกเขากำลังก่อให้เกิดวิกฤติทั้งสังคม
ข้อความทั้งหมดระบุว่า
จดหมายถึงสังคมไทย
กกต. กับการ “หาทาง” ลงโทษที่เน้นสำนึกส่วนบุคคล
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
น่าเศร้าใจนะครับที่กระบวนการเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตยของสังคมไทยกำลังถูกทำให้ชะงักงันและอาจจะนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ผมกำลังจะพูดถึงเกมส์การเมืองของ กกต. ที่ออกมาในรูปของการเน้นให้ความผิดของคุณพิธา (ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ) นั้นกลายเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากสำนึกส่วนบุคคลของคุณพิธาเอง ตามมาตราที่ 151
การเลือกเน้นการพิจารณาข้อกล่าวหาคุณพิธา ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ดูเสมือนว่า กกต. มีความชอบธรรมในการที่จะลงโทษคุณพิธา ผมคิดว่า กกต. คงจะประเมินว่าหากออกมาในลักษณะที่เป็นความผิดส่วนบุคคลและเป็นสำนึกของคุณพิธาเพียงคนเดียว น่าจะลดกระแสต่อต้านของมวลชนลงเพราะเป็นความผิดที่ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะส่วนตัวของบุคคลโดยแท้
ผมรู้สึกตงิดๆ ใจอยู่ตั้งแต่เห็นหน้าบรรดา กกต. ที่โผล่มาทางโทรทัศน์ว่ามีลักษณะ “กระหยิ่มยิ้มย่อง” ก่อนการประกาศจะใช้มาตรา 151 และเป็นการ “รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ” ซี่งหมายความว่า กกต. จะใช้อำนาจพิจารณาเรื่องนี้ก่อนส่งต่อไปยังศาลยุติธรรม อำนาจของการพิจารณาคดีพิธานี้สังคมไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรา 151 นี้กำหนดบทลงโทษไว้สูงลิ่ว คือมีทั้งโทษจำคุก ปรับ และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนานถึง 20 ปี
การที่เลือกมาตรา 151 นี้ ก็เพราะต้องการเลี่ยงการเปรียบเทียบกับคดีการถือหุ้นสื่ออื่น ๆ ที่จะทำให้ผลการตัดสินเป็นคุณแก่กรณีคุณพิธา การใช้มาตรา 151 ก็เพราะหวังว่าจะใช้คดีของคุณสิระเป็นตัวตั้งเพื่อเปรียบเทียบลงโทษ แต่ผมอยากจะบอกสังคมไทยว่าคดีของคุณสิระกับคุณพิธามันคนละเรื่องกัน หาก กกต. เทียบเคียงเช่นนี้ก็หมายความว่าต้องการเอาเรื่องคุณพิธาให้ได้นั้นเอง
การจะพิสูจน์ว่าคุณพิธารับรู้หรือไม่รับรู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติหรือไม่ ก็ต้องดูที่การดำรงอยู่ของ ITV ด้วยว่าในสังคมขณะนั้น ITV มีสถานะอย่างไร หาก กกต. ไม่พิสูจน์ในจุดนี้ให้ชัดเจนและสังคมยอมรับได้เสียก่อน และกระโดดไปสู่การตัดสินการรับรู้หรือไม่รับรู้ของพิธาโดยเทียบเคียงกับคดีคุณสิระ ผมเชื่อว่า กกต. ตัดสินใจผิดและต้องขอบอกว่า กกต.จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น
การเมืองของความหวังเรื่อง “ความเสมอภาคและยุติธรรม” ได้ถูกจุดและลามไปทุกมิติของสังคมแล้ว จะดับไฟแห่งความหวังของสังคมนี้อย่างมักง่ายไม่ได้หรอกครับ
พี่น้องทุกท่าน ขอช่วยกันจับตามองเพทุบายทั้งหลายของบรรดา “น้ำน้อย” ในสังคมไทย ที่พยายามดับไฟแห่งความหวังของพวกเรา และต้องช่วยกันเตือนสติพวกเขา (ที่คงเหลือน้อยนิด) ว่าพวกเขากำลังก่อให้เกิดวิกฤติทั้งสังคม
โศกนาฏกรรมของสังคมไทยหลีกเลี่ยงได้ หากยืนอยู่บน “ความยุติธรรม” ที่แท้จริง