หลังจากที่ประชุมสภาฯ มีมติเลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกนายกรัฐมนตรี และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่
รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้การเลือกนายกฯ ต้องใช้ระบบรัฐสภา โดยประกอบไปด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน รวมสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน ที่มีสิทธิในการลงความเห็นชอบในการเลือกนายกฯ
ผู้ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ กับ กกต.และจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน หรือ มี ส.ส.จำนวน 25 คนขึ้นไป ทำให้ขณะนี้จะมีผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯทั้งหมด 8 คน ได้แก่
คาดว่า ฝั่งพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเสนอรายชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ คนเดียว ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตทั้ง 3 คน จากพรรคเพื่อไทย จะยังไม่ถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกฯในการโหวตวันที่ 13 ก.ค.นี้
ขณะที่พรรคในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ทั้งหมดจะเปิดโอกาสให้พรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 เสนอชื่อให้รัฐสภาฯลงมติ
ทั้งนี้ ในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ จะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จากนั้น ส.ส. และ ส.ว.จะลงมติให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ
การโหวตนายกฯจะขานชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ทีละคน ตามลำดับตัวอักษร โดยสมาชิกจะออกเสียงเป็นรายบุคคล โดยระบุว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง”
ทั้งนี้ แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการ “เห็นชอบ” จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือมากกว่า 376 เสียงขึ้นไปของสมาชิกทั้งหมด 749 คน จึงจะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 30 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“วันนอร์” เผยนัดโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้
วัดใจขั้วรัฐบาลเดิม ชิงดำ “นายกฯ” หรือถอย ?
“วราวุธ” รอมติ ชทพ. โหวตนายกฯ ยินดี “วันนอร์” นั่งประธานสภา