หลังประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ส.ค.2566 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งประชาชนตลอดจนบรรดานักการเมืองจากหลายพรรค ซึ่งต่างก็มีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว
อ่านข่าว : เปิดหลักเกณฑ์ “จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566”
ประเด็นนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ออกมาชี้แจงว่า ผู้สูงอายุทุกคนยังคงได้รับเบี้ยสูงอายุเหมือนเดิม-ไม่มีใครตกหล่นหรือสะดุด แต่การปรับหลักเกณฑ์อาจต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นผู้เคาะหลักเกณฑ์
สำหรับงบประมาณเบิกจ่ายให้กับผู้สูงอายุในปี 2566 จำนวน 89,000 ล้านบาท จากผู้สูงอายุ 11 ล้านคน แต่จากฐานข้อมูลพบว่ามีกลุ่มคนที่จน หรือได้รับผลกระทบจริง ๆ มีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งงบประมาณนี้จะครบกำหนดในเดือน ก.ย.นี้
ส่วนงบประมาณปี 2567 ตั้งไว้ที่ 110,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อย้อนไปช่วงการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งหลายต่างก็ออกนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุออกมาหลากหลาย ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุของพรรคต่าง ๆ ไว้ดังนี้
นโยบาย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เรียกคะแนน กลุ่มผู้สูงวัย 12 ล้านคน
กรมกิจการผู้สูงอายุ ปี 2565 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12,698,362 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.21 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนในทุก ๆ ปี ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” จึงเป็นเรื่องสำคัญในการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายต่าง ๆ สะท้อนสถานการณ์ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย
พรรคก้าวไกล
เริ่มที่ “ก้าวไกล” นำเสนอนโยบายเงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มเงินผู้สูงวัยให้เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ภายใน 4 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ก้าวไกลยังมีนโยบายในเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที พร้อมสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ คนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน
โดย ก้าวไกล อธิบายว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักหรือเข้าไม่ถึงการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยในระยะปานกลาง ระยะยาว ระยะประคับประคอง ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแล ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุและไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง
พรรคเพื่อไทย
“เพื่อไทย” ไม่มีนโยบายแน่ชัดเกี่ยวกับ “เบี้ยผู้สูงอายุ” ประกาศจะเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ต้องรอพบแพทย์นาน และปรับปรุงการบริการให้ทันสมัย โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว และที่สำคัญคือ ไม่มีค่าใช้จ่าย
พรรคภูมิใจไทย
“ภูมิใจไทย” เสนอนโยบายผู้สูงอายุ จัดตั้งกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป โดยผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิในกรมธรรม์ประกันชีวิตโดยอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต โดย ภูมิใจไทย อธิบายเหตุผลสำคัญ 2 ข้อคือ
1.ในวันที่อยู่ “ผู้สูงวัย” จะไม่เป็นภาระของลูกหลาน มีสิทธิกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพและหาเลี้ยงตัวเองได้ในวงเงิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่จะใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่รัฐบาลทำให้ ค้ำประกันตัวเอง
2. ในวันที่จากไป “ผู้สูงวัย” ไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ทุกคนจะมีมรดกให้ลูกหลาน ทายาท และครอบครัว รายละ 100,000 บาท
พรรคพลังประชารัฐ
“พลังประชารัฐ” ชูนโยบายปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในบัตรผู้สูงอายุแบบขั้นบันได โดยผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเบี้ย 3,000 บาท/เดือน อายุ 70 ปีขึ้นไปจะได้รับ 4,000 บาท/เดือน อายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท/เดือน ถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ
พรรครวมไทยสร้างชาติ
“รวมไทยสร้างชาติ” มีนโยบาย ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วงอายุ สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุในชุมชน ลดภาษีให้แก่บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ
พรรคประชาธิปัตย์
“ประชาธิปัตย์” เสนอนโยบายจัดตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุ รับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน” เป็นมาตรการเพื่อรองรับการก้าวไปสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยอธิบายว่า เป็นการมุ่งต่อยอดสวัสดิการเดิมของผู้สูงอายุที่ได้รับเป็น “รายเดือน” เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่สำคัญ 3 ประการ คือ การพัฒนาอาชีพเสริมหลังวัยเกษียณ, การส่งเสริมสุขภาพอนามัย และการส่งเสริมกิจกรรมยามว่าง
พรรคไทยสร้างไทย
“ไทยสร้างไทย” นโยบายผู้สูงอายุ “บำนาญประชาชน” 3,000 บาท/เดือน หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุวัยเกษียณ โดยอธิบายว่า สูงวัยมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพเดือนละ 3,000 วันละ 100 บาท พออยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นการลดภาระลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้คนหนุ่มสาวตั้งตัวได้เร็วขึ้น ผู้รับบำนาญดังกล่าวต้องเข้าโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพที่ศูนย์สร้างสุขภาพใกล้บ้าน เป็นต้น
สำหรับข้อมูลทั้งหมดนี้ได้รวบรวมจากข่าวเว็บไซต์ของพรรค ซึ่งบางพรรคออกเป็นนโยบาย แต่ก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียด
อ่านข่าวอื่น ๆ
คนการเมืองมองต่างมุม กรณีปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ
มท. ชี้แจง 3 ประเด็น คลายข้อสงสัย “เบี้ยผู้สูงอายุ”
ตัดสิทธิ “เบี้ยคนชรา” ตัดท่อน้ำเลี้ยง ใจคน(อ)ยากจน
พม.ยืนยันผู้สูงอายุเดิมยังได้รับเบี้ยยังชีพ หลังรัฐบาลปรับหลักเกณฑ์
“เบี้ยผู้สูงอายุ 2566” เช็กคุณสมบัติ – วิธีลงทะเบียน – ปฏิทินการจ่ายเงิน