ข้อมูลจาก บีบีซีไทย รวบรวมหลากหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศึกชิงเสียงจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่วันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 จนถึงวันนี้ (16 ส.ค.) ครบ 3 เดือนที่แม้จะยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บรรดาตัวแสดงก็มี “วรรคทอง” ที่สร้างความถูกใจให้แฟนคลับ บางคำก็สร้างแรงกระเพื่อมกลับไปสู่พรรคการเมือง ที่ยากจะมองเห็นโอกาสในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป
“ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย”
ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย…
พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เริ่มต้นประโยคแรกระหว่างเปิดแถลงประกาศชัยชนะเมื่อ 15 พ.ค. โดยสามารถนำ สส. เข้าสภาได้ 151 คน ด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง หยุดสถิติ “พรรคที่ไม่เคยแพ้” ในสนามเลือกตั้งของ “เพื่อไทย” เอาไว้ที่ 2 ทศวรรษ
การประกาศสถานะ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ของ พิธา ไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นบ่อยนักในการเมืองไทย เพราะยังมีขั้นตอนการโหวตนายกฯ รออยู่อีกด่าน
“ขอเปลี่ยน ดีลลับ เป็น ดีลรัก”
18 พ.ค. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเปิดฉากอย่างเป็นทางการ แถลงข่าวพร้อมจัดตั้งรัฐบาล ณ โรงแรมแห่งหนึ่งย่านปทุมวัน และหลังจากนั้น เกิดกระแสข่าวด้านลบต่อเพื่อไทย “ดีลลับ” มากมายจนทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยต้องออกมายืนยันความหนักแน่นในการจับมือร่วมจัดตั้งรับบาลหลายต่อหลายครั้ง
อ่าน : เลือกตั้ง2566 : “พิธา” นำ 8 พรรคแถลงร่วมตั้งรัฐบาล 313 เสียง มั่นใจโหวตผ่านนายกฯ
แม้เราจะเป็นเจ้าสาวสวยๆ แต่เราไม่เคยกำหนดว่าจะต้องเอาสินสอดทองหมั้น
เราเพียงแค่บอกว่าคุณก็เสนอมาสิ เราจะดูว่าเหมาะสมกับเราหรือไม่เท่านั้นเอง
- 18 พ.ค. หัวหน้าเพื่อไทยกล่าว “ขออนุญาตยืนยัน พรรคเพื่อไทยสนับสนุนคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ให้ยืนยันเป็นครั้งที่ 100 500 หรือ 600 ก็ยอม เพราะกระแสปั่นเยอะ”
- 30 พ.ค. หัวหน้าเพื่อไทยย้ำ “25 ล้านเสียงที่เลือกเพื่อไทยกับก้าวไกล เป็นเจตจำนงของประชาชน” และ “ดีลลับต่างๆ เพื่อไทยยืนยันจะเปลี่ยนเป็น ดีลรัก ให้หมด เพื่อรัฐบาลของประชาชน”
“ม.112 วาระเฉพาะ”
22 พ.ค. 8 พรรคร่วม ร่วมลงนามใน MOU จัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาล วางแนวทางการบริหารประเทศร่วมกัน 23 ข้อ และไม่มีวาระแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามคาด หลังแกนนำพรรคร่วมฯ แสดงความไม่เห็นด้วย
ในระหว่างการแถลงข่าว พิธายอมรับว่า การแก้ไข ม.112 เป็น “วาระเฉพาะ” ของก้าวไกล โดยเป็น 1 ใน 45 ร่างกฎหมายที่พรรคเตรียมยื่นต่อสภา เพื่อให้ได้พูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ อย่างไรก็ตามนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ได้ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ข้ออ้าง” และ “อุปสรรคหลัก” ในการสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกลในเวลาต่อมา
อ่าน : เลือกตั้ง2566 : วินาทีประวัติศาสตร์ 8 พรรคลงนาม MOU ตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ตัดมาตรา 112
“ไม่อยากเห็นพระบวชใหม่เป็นเจ้าอาวาส”
หลังจาก กกต. ประกาศรับรอง สส. ครบสภา 500 คนแล้ว จึงได้เวลาเปิดประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไทย อ้างว่า พรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 มีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันมาก ห่างกันเพียง 10 เสียงเท่านั้น ในเมื่อ ก้าวไกล ได้ประมุขฝ่ายบริหารแล้ว (นายกรัฐมนตรี) เพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ จะ “กินรวบ” ไม่ได้ อดิสร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทยระบุว่า
ไม่อยากเห็นพระบวชใหม่เป็นเจ้าอาวาส เรามีบุคลากรเยอะ อย่าไปยอมให้เขาง่ายๆ
และสุดท้าย ก้าวไกล ก็สูญเสียเก้าอี้ประธานสภาฯ ไปแม้จะอ้างว่าเป็นโควตาของพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าเพื่อไทย ที่เป็นคนชงสูตร “ประธานสภาคนกลาง” ให้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ
“โหวตคว่ำ พิธา เป็นนายกฯ”
ในวันโหวนนายกฯ รอบแรก 13 ก.ค. สส.ขั้วรัฐบาลเดิมส่วนใหญ่โหวต “ไม่เห็นชอบ” เช่นเดียวกับฟากฝั่ง สว. ที่มีทั้งโหวต “ไม่เห็นชอบ” และ “งดออกเสียง” สนับสนุน พิธา ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า ก้าวไกล ไม่ยอมลดเพดานเรื่องนโยบายแก้ไขมาตรา 112
ตัวละครที่โดดเด่นในวันนั้น ไม่พ้น ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี ภูมิใจไทย เปิดฉากอภิปรายอย่างดุเดือด ก่อนระบุว่า
ถ้าท่านหลุดคำนี้คำเดียว ไม่ยุ่งกับ 112 ภูมิใจไทยจะลงให้ท่านครับ
และสุดท้ายการประชุมสภาฯ ในวันนี้ปิดฉากลงด้วยมติ “ไม่เห็นชอบ” 324 เห็นชอบ 182 และ งดออกเสียง 199
อ่าน : เปิดรายชื่อ 13 ส.ว. โหวต “เห็นชอบ” พิธานั่งนายกฯ
“ญัตติซ้ำ”
หลังไม่ได้รับความเห็นชอบสนับสนุนการเป็นนายกฯ ในวันโหวตนายกฯ รอบแรก พิธาระบุว่า “ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้” พร้อมโพสต์คลิปขอเสียงสนับสนุนเพิ่มจาก สส. และ สว. ให้โหวต “เห็นชอบ” ในวันที่ 19 ก.ค. และการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 เพื่อ “ปิดสวิตช์ สว.” ทำให้ ภูมิธรรม เวชยชัย ออกอาการหัวเสียที่ ก้าวไกลเสนอประเด็นที่อยู่นอกเหนือ MOU กล่าวเชิงตำหนิว่า “คุณพิธาออกมาพูดเช่นนี้ เหมือนมัดมือชกเรา”
กระทั่งวันโหวตนายกฯ รอบ 2 สุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทย ตอกย้ำความจริงใจตามคำมั่น “สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ อย่างสุดความสามารถ” ด้วยการเสนอชื่อ พิธา เป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ในที่ประชุมร่วม 395 ต่อ 312 ลงมติเลือกเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทำไม่ได้ตลอดสมัยประชุมนี้ เพราะถือเป็น “ญัตติต้องห้าม” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41
ขณะที่วันนี้ (16 ส.ค.2566) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย ปมร้องเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯรอบ 2 ผู้ร้องเรียนไม่ใช่บุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
อ่าน : ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯซ้ำ
“ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.”
ก่อนมติไม่เห็นชอบ “ญัตติซ้ำ” จะเกิดขึ้น ช่วงเที่ยงวันของวันที่ 19 ก.ค. เอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกส่งถึงมือ พิธา โดยระบุคำสั่ง มีมติเอกฉันท์รับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณาว่าสมาชิกภาพ สส. ของพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากปมถือหุ้น บมจ. ไอทีวี และมีมติ 7 ต่อ 2 ให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะวินิจฉัย
ในเวลาต่อมา หัวหน้าพรรคก้าวไกลขออนุญาตประธานสภาฯ ขอปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น พร้อมกล่าวอำลาองค์ประชุมในรัฐสภา
ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วครับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. และถ้าประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง แม้ผมไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ก็ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันอยู่ดูแลประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ
อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : “พิธา” เดินออกจากสภา บอกขออำลาจนกว่าจะพบกันใหม่
“เรือมันล่ม คนหนุ่มต้องเสียสละ”
ฉากการแถลงข่าวร่วมกันของ 8 พรรคร่วมถึงการส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้รับบทเด่นในวันนั้นคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่กดไมโครโฟนเรียกร้องให้ ก้าวไกล สนับสนุน เพื่อไทย
เรือมันล่ม ต้องให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิงขึ้นไปก่อน ไม่ใช่หนุ่มกระโดดขึ้นเรือก่อน
ดังนั้นต้องมีผู้เสียสละให้ประชาธิปไตยไปได้ ถ้าไม่เสียสละไปไม่ได้
ประโยคดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบเป็นอย่างมากในสังคมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เชิงว่า เสียง 1 เสียงกลับไล่ให้ 151 เสียงออกไปจากกลุ่ม แต่ทางด้านเจ้าของวรรคทองก็ไม่ได้ให้ความสนใจแต่อย่างใด
อ่าน : กาลเปลี่ยน “เสรีพิศุทธ์” ไม่เคยเปลี่ยน
ไล่หนู ตีงูเห่า แค่ “เทคนิคการหาเสียง”
เมื่อหันหลังให้กับก้าวไกลเต็มตัว เพื่อไทยก็เดินหน้าบนเส้นทางใหม่ เชิญตัวละครลับคนที่ 1 เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล “พรรคภูมิใจไทย” ด้วยเสียงตั้งต้นจัดตั้งรัฐบาล 212 เสียงในวันที่ 7 ส.ค.2566
มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรณรงค์หาเสียงก่อนเลือกตั้ง สร้างความขัดแย้งให้ประชาชนได้เห็นว่านโยบายของทั้ง 2 พรรคนั้นไม่ได้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน เช่น “กัญชาเสรี” ที่ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายฯ เพื่อไทย ถูก ภูมิใจไทย ฟ้องข้อหาปราศรัยใส่ร้ายพรรค และล่าสุด อนุทินเปิดเผยว่าได้ถอนฟ้องเศรษฐาแล้ว
อ่าน : ภท-พท. 212 เสียงตั้งต้นรัฐบาลใหม่ ไม่เอาพรรค 2 ลุง
แต่ประเด็นที่เป็นที่ท้วงติงจากทางสังคมมากที่สุดคือ “แคมเปญไล่หนูตีงูเห่า” ในช่วงที่เพื่อไทยลงพื้นที่หาเสียง จ.ศรีสะเกษ แต่ นพ.ชลน่าน อธิบายหักมุมว่า เป็นเพียงภาพการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงการเลือกตั้ง
เป็นเทคนิคการหาเสียงต่างฝ่ายต่างมี เพื่อไทยไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกับใคร
สร้างกระแส #เพื่อไทยการละคร #ใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น ในโลกออนไลน์และกระแสเชิงลบต่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก
“คณิตศาสตร์การเมืองชัดเจนอยู่แล้ว”
เมื่อเริ่มต้นเดินทางพร้อมภูมิใจไทยกับบทละคร “อุ้มหนูชูงูเห่า” แล้ว เพื่อไทยก็เริ่มเปิดรายชื่อตัวละครลับที่กำลังจะเป็นตัวละครหลักในรัฐบาลขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่น่าจับตาคือ เพื่อไทยกำลังแสดงละครอีกหรือไม่? เมื่อยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า สูตรจัดตั้งรัฐบาลจะมี พรรค 2 ลุง ทั้ง พลังประชารัฐ และ รวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม
แม้ ไผ่ ลิกค์ จะยืนยันว่า สส.ทั้งหมดของพลังประชารัฐพร้อมยกมือโหวตเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย รวมถึง อัครเดช สส.รวมไทยสร้างชาติ ที่แย้มกับผู้สื่อข่าวว่าได้รับสัญญาณบวกจากเพื่อไทย ให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล
คณิตศาสตร์การเมืองชัดเจนอยู่แล้ว ลองไปดู เป็นเกณฑ์บังคับให้เราต้องเดิน
วรรคทองอีกวรรคของตัวชงสูตร “รัฐบาลพิเศษ” ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
อ่าน : “ภูมิธรรม” มั่นใจโหวตนายกฯ ครั้งเดียวจบ ขอเป็นหินก้อนแรกสร้างทางใหม่
ที่มา : BBC