ธ.ก.ส.ตั้งรับนโยบายรัฐบาลใหม่ “พักหนี้เกษตรกร” เตรียมทำข้อมูลรอหารือชัดเจนอีกครั้งหลังแถลงนโยบาย เร่งเครื่องแก้เอ็นพีแอลภาคเกษตร ตั้งเป้าสิ้นปีเหลือไม่เกิน 5.5% ระบุพร้อมเป็นช่องทางแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หากรัฐบาลให้ทำ
25 ส.ค. 2566 ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า นโยบายดูแลเกษตรกรที่ทางพรรคร่วมรัฐบาล จะมีการพักหนี้ให้แก่เกษตรกรนั้น สิ่งที่ธนาคารทำขณะนี้คือเตรียมข้อมูลลูกหนี้ทุกกลุ่ม ทุกเซ็กเมนต์ และรายละเอียดมูลหนี้เอาไว้ ซึ่งขณะนี้ได้รับการประสานงานจากกระทรวงการคลังมาแล้ว
อย่างไรก็ดี รายละเอียดการดำเนินการคงต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะพักหนี้ในมิติใดบ้าง เพราะแต่ละมิติก็จะมีผลกระทบแตกต่างกันไป ทั้งในแง่กระแสเงินสดของแบงก์ ดอกเบี้ยรับ รวมถึงการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐานบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“คงต้องมาคุยรายละเอียดกันอีกที ถ้าพักหนี้ จะพักแบบไหน พักเฉพาะเงินต้น หรือดอกเบี้ยด้วย เพราะถ้าพักดอกเบี้ยด้วยจะมีผลกับงบฯ ดุลของธนาคาร รวมถึงมาตรฐานของแบงก์ชาติด้วย” ฉัตรชัยกล่าว
นอกจากนี้ หากพักหนี้ก็อาจจะต้องมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกหนี้ที่ความสามารถในการชำระ ที่อยากชำระเป็นปกติด้วย
ฉัตรชัยกล่าวว่า ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท จำนวน ลูกค้า 4.26 ล้านราย แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ซึ่งลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.55 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 36% สินเชื่อคงค้าง 3.7 แสนล้านบาท กลุ่มบุคคลทั่วไป 2.7 ล้านราย สัดส่วน 63% สินเชื่อคงค้าง 1.45 ล้านล้านบาท และกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่จะสร้างเป็นหัวขบวนอีก 4 หมื่นราย สัดส่วน 1% สินเชื่อคงค้าง 2.8 แสนล้านบาท
ส่วนนโยบายเรื่องแจกเงินดิจิทัลนั้น ฉัตรชัยกล่าวว่า หากรัฐบาลจะใช้ ธ.ก.ส. เป็นช่องทางก็พร้อม ด้วยระบบเทคโนโลยีที่มีสามารถรองรับได้ แต่อาจต้องพิจารณาในแง่ที่จะมีการกำหนดรัศมีใช้จ่ายในระยะ 4 กิโลเมตรนั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเกษตรกร ที่ค่อนข้างอยู่กันกระจายตัว ไม่กระจุกเหมือนในเมือง
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวด้วยว่า หลังจากเข้ามารับหน้าที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้ 5 เดือน ภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งคือ การแก้หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8.46% โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีบัญชี 2566/67 (สิ้น มี.ค. 2567) จะลดสัดส่วนเอ็นพีแอลให้เหลือไม่เกิน 5.5%
“เราจะบริหารจัดการเอ็นพีแอล 2 มิติ คือ หนี้ที่ครบดีลก็ต้องป้องกันไม่ให้ไหลเป็นเอ็นพีแอล ส่วนที่เป็นเอ็นแล้วก็จะแก้ไข ปรับโครงสร้างให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งตอนนี้การไหลเป็นเอ็นพีแอลเหลือเดือนละหลักพันล้านบาท จากเดิมเป็นหมื่นล้านแล้ว” ฉัตรชัยกล่าว