มาแล้ว! ครม.เศรษฐา 1 รัฐบาลเพื่อไทย คาดเสนาบดีทุกกระทรวงจะเริ่มทำงานแบบ “จัดเต็ม” ได้ 12 ก.ย.นี้ แต่ที่ยังไม่มา คือ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา แม้จะมีความชัดเจนว่า พรรคก้าวไกล ,ประชาธิปัตย์ ,ไทยสร้างไทย ,เป็นธรรรม , ใหม่ , ครูไทยเพื่อประชาชน และประชาธิปไตยใหม่ จะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 183 เสียงแน่นอน
แต่ยังมีปัญหาตามมาว่า ขณะนี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มี สส.ถึง 149 คน ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ส่วน “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พรรคก้าวไกล ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภา
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 106 กำหนดเงื่อนไขตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไว้ว่า
-ต้องเป็น สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาที่มีจำนวน สส.มากที่สุด
-สส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรวมนายกฯ ประธานสภา หรือรองประธานสภา
-หรือกรณีที่เป็นพรรคมีสมาชิกเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
ปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าว ไม่ต่างจากเกิด “สุญญากาศ” ของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุรัฐบาลมีฐานที่เข้มแข็ง ขณะที่ฝ่ายค้านยังหาตัวผู้นำไม่ได้ เพราะติดล็อกจากรัฐธรรมนูญมาตรา 106 หากเป็นเช่นนี้ การเมืองไทยในสภาจะเป็นเช่นใด
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 106 จะระบุไว้ชัดเจน แต่ต้องดูว่า ขณะที่นายพิธา ยังถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และนายปดิพัทธ์ ไม่สละตำแหน่งรองประธานสภา ตำแหน่งนี้ก็จะไหลไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคฯคนใหม่ได้
ตำแหน่งนี้ไหลมาที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และพรรคเป็นธรรมตามลำดับ ปัญหาคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ทสท. ลาออกจาก สส.แล้ว จะทำอย่างไร จะเลือก สส.คนถัดมาให้เป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะตกมาที่พรรคเป็นธรรม แต่นายกัณวีร์ สืบแสง หัวหน้าพรรคฯไม่ได้เป็น สส.อีก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวสะท้อนให้เห็นกลไกที่บิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญว่า มีปัญหา
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข้อถกเถียงว่า ควรจะมีตำแหน่งที่ว่างตำแหน่งรองประธานสภา 1 ที่นั่ง ให้กับฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย และอาจมีบางช่วงเวลาที่รองประธานของฝ่ายค้านควรจะทำหน้าที่ได้ แต่แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญเขียนว่า ฝ่ายค้านห้ามนั่งในตำแหน่งเหล่านี้ เท่ากับเป็นการปิดกั้นกลไกการรับฟังความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยเลยจึงทำให้เป็นปัญหา
ทางออก ก็ต้องดูว่า หากพรรคก้าวไกลไม่สละตำแหน่งรองประธานสภา ก็ต้องไหลไปสู่ประชาธิปัตย์และไทยสร้างไทย ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคปัจจุบันก็ไม่ได้เป็น สส.หรือจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งเป็น สส.ในสภา จึงต้องดูว่าเขาเปลี่ยนหัวหน้าพรรคหรือไม่ หากไม่มีตำแหน่งนี้ก็จะไหลไปที่พรรคเป็นธรรม แม้นายกัณวีร์ สืบแสง จะเป็นหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เป็น สส.
สุดท้ายคือ อาจไม่จำเป็นต้องมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาก็ได้ ไม่ได้เป็นสิ่งบังคับว่าจะต้องมี เพราะบางยุคบางสมัย ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านอยู่นานกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหาร
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การเมืองก่อนปี 2540 ไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน แต่หลังจากมีการแตกตัวของพรรคการเมืองจากพรรคพลังประชาชน ไปยังพรรรคภูมิใจไทยต่อมาพรรคพลังประชาชน ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงทำให้มีการเว้นว่างผู้นำฝ่ายค้าน อยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้มีความจำเป็นว่าจะต้องมี
การเกิดสุญญากาศตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ไม่มีผลกระทบอะไร แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญ เขียนชัดว่า การยื่นญัตตินั้นอาจจะยื่นโดยสส.เข้ายื่นโดยเข้า ชื่อกันตามมาตรา 151 และมาตรา 152 รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า ต้องยื่นโดยผู้นำฝ่ายค้าน หรือดำเนินการตามผู้นำฝ่ายค้าน
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า แม้ฝ่ายค้านจะยังไม่มีผู้นำ แต่การประชุมสภาหรือเปิดอภิปราย สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ไม่มีปัญหา แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยในฐานะที่ได้เป็นรัฐบาล ควรต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ ดึงความเชื่อถือของประชาชนให้กลับคืนมา โจทย์ใหญ่ของพรรคไม่ได้อยู่ที่การเป็นรัฐบาลแล้ว
ให้เวลา ครม.เศรษฐา 1 ทำงานเต็มที่ 2 ปี จะคอยดูว่าเขาจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ครบ 4 ปี หรือไม่ จะต้องดูเป็นช่วงๆ
อ่านข่าวอื่นๆ :
ไทม์ไลน์การเมือง “ครม.เศรษฐา1” เดือนก.ย.นี้ มีอะไรบ้าง?
ส่องอายุ ครม. “วัยเก๋า” เศรษฐา 1 เหล้าใหม่ ในขวดเดิม