หน้าแรก Voice TV ก้าวแรกรัฐบาล ‘ลดค่าไฟ-ค่าน้ำมัน’ ทันที ก้าวต่อไป ‘ภาคประชาชน’ อยากเห็นอะไร

ก้าวแรกรัฐบาล ‘ลดค่าไฟ-ค่าน้ำมัน’ ทันที ก้าวต่อไป ‘ภาคประชาชน’ อยากเห็นอะไร

70
0
ก้าวแรกรัฐบาล-‘ลดค่าไฟ-ค่าน้ำมัน’-ทันที-ก้าวต่อไป-‘ภาคประชาชน’-อยากเห็นอะไร

ถ้าพูดถึงบิลค่าไฟ-ค่าน้ำมันในแต่ละเดือน แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐออกมาบรรเทาอยู่เป็นระยะ แต่สัดส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องราคาพลังงานของคนไทยก็เรียกได้ว่าแพงหูฉี่

นาทีนี้ข่าวที่คนไทยจับตาหลังอุณหภูมิการเมืองเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็เตรียมเดินหน้าผลิตนโยบายตามคำสัญญาที่ให้ไว้ แน่นอนว่าเรื่อง ‘ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน’ ก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ ตามคำประกาศของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ที่จุดพลุนัดแรกของประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือการประกาศลดราคาพลังงานเป็นวาระเร่งด่วน

สอดคล้องกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 66 ใจความว่า รัฐบาลเตรียมเดินหน้าลดราคาพลังงานทันทีในการประชุม ครม.ครั้งแรก หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อลดภาระประชาชน และส่งเสริมการดำเนินการทางเศรษฐกิจทั้งการผลิตและขนส่ง

พร้อมภาพข้อความประกอบโพสต์ดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่า

ลดราคาน้ำมันทันที

  • ลดราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้กลไกการปรับลดภาษีสรรพสามิตและลดภาระของกองทุนน้ำมันเพื่อปรับโครงสร้างราคา และภาษีอย่างยั่งยืน
  • ลดราคาน้ำมันเบนซิน จะมีการพิจารณาช่วยเหลือชดเชยแบบเฉพาะกลุ่ม

ลดค่าไฟทันที

ใช้กลไกการยืดการชำระหนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปก่อน ในช่วงที่ต้นทุนไฟฟ้ายังสูงอยู่ เพื่อลดภาระที่ซ้ำเติมต้นทุนไฟฟ้า

5 ข้อเสนอประชาชนถึงรัฐบาล

เมื่อภาครัฐเริ่มขยับ ‘วอยซ์’ ชวน ‘อิฐบูรณ์ อ้นวงษา’ รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมสะท้อนให้ความเห็นและเสนอแนวทางผ่านสายตาของภาคประชาชน ถึงย่างก้าวที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเดินหน้าลดราคาพลังงาน

อิฐบูรณ์ ชี้ว่าตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้ราคาค่าไฟเหลือหน่วยละ 4.25 บาท จากเดิมทีอยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้แน่ แต่ในมุมมองของภาคประชาชนที่เห็นความไม่เป็นธรรมของกลไกค่าไฟฟ้าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ได้รวมตัวกันในนาม ‘เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม’ เรียกร้องไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ โดย 5 ข้อเสนอซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าพลังน้ําขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อหยุดการนําภาคธุรกิจและภาคประชาชนไปแบกรับภาระจากสัญญาที่ผูกมัดยาวนาน 25–35 ปี จนกว่าโรงไฟฟ้าจํานวนมากที่มีอยู่แล้วแต่ไม่จําเป็นต้องเดินเครื่องจะลดลงสู่ระดับที่เป็นมาตรฐานนานาชาติ

2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือระบบหักลบหน่วยไฟฟ้ากับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น เปิดโอกาสให้ประชาชนที่นำเทคโนโลยีโซล่าเซลล์มาใช้ สามารถนำไปเชื่อมโยงกับระบบการไฟฟ้าฯ โดยซื้อขายอัตราที่เท่ากัน ซึ่งในปัจจุบันรับซื้อไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตเองในราคาหน่วยละ 2.20 บาท แต่ประชาชนต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนข้อเสนอนี้

3. เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใสตรวจสอบได้ ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่นๆ ก่อนนําเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและตัดสินใจของรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน จําเป็นต้องให้ข้อมูลในรายละเอียดอย่างครบถ้วน และเข้าถึงได้ง่าย

4. พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมสําหรับการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้า ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทําให้ไม่ต้องมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับภาครัฐอีกต่อไป โดยดําเนินการควบคู่กับการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมที่ลงนามไปแล้ว เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP หรือ CP) ภาระไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-Pay) และอัตรากำไร (IRR) ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่สูงเกินควร บนหลักการที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

5. นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทยและก๊าซจากพม่า ไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ แล้วนําต้นทุนก๊าซที่มีราคาแพงกว่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก ไปคิดเป็นต้นทุนสําหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

ต้นตอปัญหาสัญญาเอื้อนายทุน

“เราเรียกร้องขอให้รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างราคาไฟฟ้าอย่างแท้จริง และเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม โจทย์แรกที่ต้องทำคือรัฐบาลต้องพิจารณาว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าจากการเซ็นสัญญารับซื้อจากเอกชนที่มันล้นเกิน ทำให้เกิดภาระกับประชาชน และต้องหยุดภาระในส่วนนี้”

372319547_6906705989392250_9140408132952232754_n.jpeg

อิฐบูรณ์ ขยายเพิ่มว่าสิ่งที่ทางภาคประชาชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมได้นำเสนอข้อมูลมาโดยตลอด ก็คือ การวางแผนเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่ผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัย ที่ผ่านมาไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อกฎหมายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยเรื่องการกำหนดสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าของภาครัฐที่เหมาะสมส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัญญาการซื้อไฟฟ้าระหว่าง การไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับภาคเอกชนขาดความยึดหยุ่น และเอื้อประโยชน์ระยะยาวให้กับกลุ่มโรงไฟฟ้าภาคเอกชนมากเกินควรจนแก้ไขไม่ได้

หนุนลดภาษีน้ำมัน-ค้านลดเบนซินเฉพาะกลุ่ม

สำหรับการลดราคาน้ำมันดีเซลนั้น อิฐบูรณ์มองว่ารัฐบาลชุดใหม่ต้องออกแบบว่าจะเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอย่างไร เพื่อให้เพดานภาษีที่เหมาะสม เช่นเก็บภาษีไม่เกินลิตรละ 5 บาท ซึ่งขณะนี้โครงสร้างราคา (4 ก.ย.) ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 32 บาท ราคาดีเซลหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 27 บาทต่อลิตร มีการเก็บภาษีน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตร 5.99 บาท

หากรัฐบาลจะลดราคาเก็บภาษีที่ 3 บาท เพื่อตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร อิฐบูรณ์ชี้ว่าสามารถทำได้ทันทีและยังคงมีเงินรายได้เข้าภาครัฐ เนื่องจากราคาหน้าโรงกลั่นต่ำกว่าราคาขาย ซึ่งในส่วนนี้ยังช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันที่เข้าไปจ่ายชดเชยราคาน้ำมันดีเซล 5.19 บาทต่อลิตร ในการอุ้มราคาน้ำดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรด้วย

สำหรับการลดราคาน้ำมันเบนซินที่มีการประกาศจะลดเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง อิฐบูรณ์ย้ำว่าไม่เห็นด้วยเนื่องจากประชาชนที่ทำอาชีพอื่นที่เข้าไม่ถึงระบบขนส่งก็จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางไปทำงานเช่นเดียวกัน

ในส่วนการลดราคาน้ำมัน อิฐบูรณ์เสนอว่า ควรลดราคาน้ำมันเบนซินจาก 47.34 บาทต่อลิตร (ราคา 4 ก.ย.66) ให้ต่ำกว่าอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตร โดยพิจารณาการปรับลดภาษีสรรพสามิต หรือกดดันไปที่การกำหนด ‘ค่าการตลาด’ (รายได้ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน)

ทั้งนี้ การพิจารณาค่าการตลาดที่เหมาะสม ถูกกำหนดจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยมี รมว.พลังงานเป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมาค่าการตลาดของกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 3.29 บาทต่อลิตร สูงกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมซึ่งอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร อาจทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่ที่กลุ่มประกอบการค้าปลีกน้ำมัน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่