หน้าแรก Voice TV 'ภูมิธรรม' ยืนยัน ครม.นัดแรกเคาะประชามติจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ เอื้อทุกฝ่ายไม่แตะหมวดกษัตริย์

'ภูมิธรรม' ยืนยัน ครม.นัดแรกเคาะประชามติจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ เอื้อทุกฝ่ายไม่แตะหมวดกษัตริย์

81
0
'ภูมิธรรม'-ยืนยัน-ครมนัดแรกเคาะประชามติจัดทำ-รธน.ฉบับใหม่-เอื้อทุกฝ่ายไม่แตะหมวดกษัตริย์

‘ภูมิธรรม’ ยืนยันประชุม ครม.นัดแรก เคาะประชามติจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ เพื่อเอื้อต่อประชาชนทุกฝ่าย จะไม่แตะเนื้อหาในหมวดพระมหากษัตริย์ พร้อมแจงปมผู้ว่าฯ ซีอีโอทำควบคู่ได้กับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้าน ‘ชูศักดิ์’ ชี้รัฐบาลตั้งใจจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 22.17 น. วันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานด้านรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทย โดยอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย นโยบายพรรคเพื่อไทยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน ยึดรูปแบบการปกครองประชาธิปไตย โดยสอบถามประชามติเห็นสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยการแก้ไขไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ รวมทั้งหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

ชูศักดิ์ ระบุว่า ถ้าเราดูรัฐบาลที่ได้แถลงในเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มีลักษณะขยายความ มีลักษณะปรึกษาหารือ มีการดำเนินการเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยความรอบคอบรัดกุม ตนเห็นว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลหลายพรรคการเมือง รัฐบาลผสม โดยประสบการณ์ตนที่เคยรับผิดชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราพูดได้ว่า รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขทั้งฉบับ เราเกือบทำสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปี 2563 แม้ผ่านวาระที่ 2 แต่ร่างก็มาตกม้าตายในวาระที่3 เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 การทำรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนผู้สถานปนารัฐธรรมนูญลงมติประชามติจะเห็นชอบทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เข้าใจว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นว่า ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถามประชาชนก่อน โดยที่ยังไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในกระบวนการนั้น แต่ตนยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงขณะนี้ ตนยังอุ่นใจ เพราะรัฐบาลยอมรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยเป็นนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย และการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยรัฐบาลจะหารือทุุกฝ่ายรวมถึงรัฐสภาในการทำประชามติ แปลว่ารัฐบาลนี้เห็นความสำคัญการทำประชามติในการเห็นชอบจากประชาชน รัฐบาลสัญญาจะหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญให้รอบคอบจากรัฐสภา โดยรัฐบาลมีความจริงใจให้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ชูศักดิ์ _2777.jpeg

ชูศักดิ์ ระบุว่า เรายังไม่ตกผลึกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายเรื่องด้วยกัน ที่ยังไม่ตกผลึกคือเรื่องแรกเรื่องจัดทำประชามติ แต่คำถามตามมาและเห็นแตกต่างกัน คือจัดจะทำประชามติกี่ครั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แน่นอนต้องแก้ไขมาตรา 256 และถ้าแก้ไขต้องทำประชามติ เมื่อทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติ 

ชูศักดิ์ ระบุว่า ตนทราบว่าบางพรรคเสนอให้ทำประชามติ 4 ครั้ง ตนศึกษาแล้วต้องทำประชามติถึง 2-3 ครั้ง ที่ยังไม่ลงรอยอีกเรื่องคือ ส.ส.ร. พรรคเพื่อไทยเสนอให้มาจากการเลือกตั้ง แต่ครั้งก่อน มีพรรคการเมืองหลายพรรคควรจากการเลือกตั้งและสรรหา อีกส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิ อีกเรื่องที่ไม่ลงรอยกัน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือทำฉบับใหม่ โดยจะรวมทุกมาตราหรือไม่ เมื่อปี 2563 พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ยกเว้นแก้ไขหมวด1-2 และครั้งนี้จะไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ แต่แม้จะไม่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญก็ห้ามไว้ เพราะการแก้ไขต้องคงรูปแบบการปกครองและจะเปลี่ยนรูปแบบของรัฐไม่ได้

ชูศักดิ์ ระบุว่า การจะแก้ไขทั้งฉบับทำไม ทำไมไม่แก้ไขเป็นรายประเด็นนั้น พรรคเพื่อไทยและหลายพรรคเสนอมาแก้ไขมา 5-6 ครั้งในเรื่องอำนาจ สว. แต่ไม่สำเร็จ การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ยากมาก 

“เข้าใจว่ารัฐบาลคงพยายามทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ รักษาสัญญากับประชาชน และหวังว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงจะมีแนวทางกำหนดไว้ว่าสมควรจะดำเนินการประการใด แต่เชื่อว่าคงมีความตั้งใจจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” ชูศักดิ์ กล่าว

ภูมิธรรม 2780.jpeg

ภูมิธรรม ยัน ครม.นัดแรกประชุมเคาะประชามติแก้ รธน.

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า รายละเอียดการจัดทำรัฐธรรมนูญ ชูศักดิ์ได้ทำความเข้าใจแล้ว หากเราจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบ และไม่คิดให้รอบด้าน จะเป็นชนวนขัดแย้งอันใหม่ และเป็นปัญหาต่อประเทศชาติ ตนได้รับฟังความเห็นฝ่ายค้าน ก็ตั้งใจฟังอย่างดี เพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นสิ่งที่ทำให้การทำงาน การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบคอบ ละเอียด ดูแลไม่ให้ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตนคิดว่ารัฐบาลของประชาชน เป็นรัฐบาล 11 พรรคเป็นเป้าหมายหนีออกจากความขัดแย้ง ความพยายามตั้งใจนี้ไม่ได้เป็นแบบที่ท่านได้กล่าวหารัฐบาล

ปัญหาความขัดแย้งในสังคมหลายเรื่องจะบานปลายไปหมด เราไม่ลืมว่ารัฐบาลได้พูดอะไรกับประชาชน เราจะใช้ความตั้งใจสุดกำลังให้รัฐธรรมนูญนี้ตอบสนองประชาชน รัฐบาลนี้จะแสดงเจตจำนงจะดำเนินการให้มีการประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที ในการประชุมครม.นัดแรกเรายืนยันสิ่งที่คิดและทำ เราไม่ได้คิดจะทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่เราสนใจที่จะทำกับสิ่งที่อยู่ความเป็นจริง มีประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ประชุม ครม.จะนำวาระจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การประชุม ครม.นัดแรกแน่

ภูมิธรรม กล่าวว่า สิ่งที่เราคิดคือมุ่งมั่นมีจุดมุ่งหมายชัดเจนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาข้อยุติทุกฝ่ายให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เราจะประกาศว่ารัฐบาลนี้ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุุข และจะไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพส้กการะของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ แต่จะทำรัฐธรรมนูญเอื้อต่อประชาชนเอื้อทุกฝ่ายเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญทุกส่วนแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ส่วนการประชุม ครม.นัดแรกจะมีการลงมติของ ครม.ที่จะแก้ไขในวาระแรกหรือไม่ ยืนยันเกิดขึ้นวาระแรกและให้เกิดความสำเร็จตามที่ประชาชนคาดหวัง

ภูมิธรรม ระบุด้วยว่า เรื่องผู้ว่าฯ ซีอีโอนั้น ตนอยากเชิญชวนมาร่วมกันมองลดความขัดแย้งแก้ปัญหาสังคม โดยเรื่องกระจายอำนาจนั้น รัฐบาลไทยรักไทยหรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราเป็นพรรคที่ประชาชนเชื่อมั่น ว่าเราทำมากกว่าพูด เราไม่อยากพูดมากแล้วทำไม่ได้ ตนเรียนให้มั่นใจได้ว่า เราพิสูจน์มาแล้วหลายเรื่องเราจะทำถ้าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การทำผู้ว่าฯซีอีโอ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินทำให้ดูแลพี่น้องประชาชนแก้ไขปัญหาประชาชนได้เป็นอย่างดี และสามารถทำควบคู่ได้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งแตกต่างจากบางพรรคที่คิดจะพิจารณาเลือกผู้ว่าฯ ทั้งหมดในประเทศ ตนอยากให้คิดตระหนักว่า หากลองทำอย่างนั้นแล้ว สังคมจะขยับขับเคลื่อนทางไหน แล้วใครจะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

“เรายืนยันไม่มีกลับกลอก ไม่มีการพูดจาหลบเลี้ยวว่าจะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯเมื่อมีความพร้อมทั้ง 76 จังหวัดเหมือนบางพรรคอยากเห็น หัวใจกระจายอำนาจคือจิตวิญญาณการกระจายอำนาจ ในอดีตพรรคไทยรักไทยเคยทำมา เช่นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านกระจายเงินในมือของรัฐลงไปที่ประชาชน ชุมชน หมู่บ้าน เมือง ชนบท” ภูมิธรรม กล่าว

ภูมิธรรม ย้ำว่า “อยากให้มองอะไรเป็นบวก เห็นความตั้งใจทุกฝ่ายให้มีจดเริ่มต้นมากกว่าความแตกแยก สิ่งสำคัญ รัฐบาลเริ่มต้นที่โลกความเป็นจริง อยู่กับความเป็นจริง พัฒนาจุดบกพร่องให้มีอะไรดีขึ้น รัฐบาลไม่ได้อยู่กับความฝันแล้วบรรลุได้ยากลำบากแม้มันจะสามารถประสบความสำเร็จบางส่วนบางด้าน”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่