‘พริษฐ์’ ตั้งคำถามอนาคตนโยบายเกณฑ์ทหาร หลังคำสัมภาษณ์ ‘เศรษฐา’ สะท้อนจุดยืนที่เปลี่ยนไป ยืนยันยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ‘เพื่อไทย’ มีกลไกผลักดันให้สำเร็จได้ แม้พรรคร่วมฯไม่เห็นด้วยทั้งหมด
วันที่ 17 กันยายน 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงอนาคตของนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โพสต์ลงเฟซบุ๊กเพจ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu’ ระบุว่า นโยบายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นนโยบายที่มีความสำคัญต่อทั้งเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ของโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม
ในรายการสดกับสำนักข่าวแห่งหนึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการเกณฑ์ทหารไว้ว่า “เรื่องเกณฑ์ทหารสมัครใจ ผมไม่เคยบอกยกเลิก ผมไม่เข้าใจว่าคำว่ายกเลิกนี้หมายความว่าอะไร? ไม่ให้มีอีกแล้ว? ไม่ให้มีทหารอีกแล้ว? แล้วคนที่เกษียณไป ตายไป? หรือว่าจะให้กำลังกองทัพไม่มีเลย? ผมไม่ทราบ ผมไม่รู้ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเพื่อไทย (เรา)ชัดเจน ผมพูดตลอดทุกเวทีว่าเป็นเรื่องของการ “สมัครใจเกณฑ์ทหาร” ให้พี่น้องมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพให้ได้ ใช่ไหมครับ?”
พริษฐ์กล่าวว่า หากคำพูดนี้ถูกกล่าวโดยคนที่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร ตนจะไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร และกลับรู้สึกว่าตนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นในการสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบาย ‘ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร’ และโน้มน้าวคนที่ยังไม่เห็นด้วยให้หันมาเห็นด้วย
แต่พอคำพูดนี้ถูกกล่าวโดยคนที่เป็นนายกฯ ซึ่งพูดถึงปัญหาของการเกณฑ์ทหารอยู่บ่อยครั้งก่อนการเลือกตั้ง ตนรู้สึกผิดหวัง – เพราะนอกจากจุดยืนเชิงนโยบายที่ดูจะเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เคยพูดไว้ก่อน แต่คำสัมภาษณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าท่านนายกฯ อาจจะยังไม่ได้เข้าใจถึงความหมายของปัญหาและนโยบายนี้อย่างเพียงพอ
1. ท่านนายกฯ บอกว่า ท่านไม่เคยบอก ‘ยกเลิก’ เกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง
ประเด็นนี้ ตนคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากนัก เพราะประชาชนได้มีการแชร์ทั้งคำพูดเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วจากท่านนายกฯเองเคยพูดในลักษณะที่เห็นด้วยกับการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยังไม่นับข้อความในเพจพรรคเพื่อไทยที่ยืนยันว่าจะ “แก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร”
2. ท่านนายกฯ พูดเสมือนว่าการ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ เท่ากับการ ‘ไม่ให้มีทหารอีกแล้ว’ ซึ่งไม่เป็นความจริง
การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไม่เท่ากับการยกเลิกกองทัพหรือการไม่ให้มีทหาร แต่เพียงการยกเลิกการ ‘เกณฑ์’ หรือ การ ‘บังคับ’ คนไปเป็นทหาร (ในยามที่ไม่มีสงคราม) เพื่อให้กองทัพประกอบไปด้วยทหารที่สมัครใจเป็นทหารเท่านั้น (ในยามที่ไม่มีสงคราม)
3. ท่านนายกฯ ใช้คำว่า ‘เกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ’ ซึ่งเป็นข้อความที่ย้อนแย้งในตัวเอง
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตนได้ยินท่านนายกฯใช้คำพูดลักษณะนี้ แต่ตนก็สงสัยทุกครั้งว่าท่านหมายถึงอะไร เนื่องจากคำว่า ‘เกณฑ์’ หมายถึง ‘บังคับ’ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า ‘สมัครใจ’ (หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ มันเสมือนกับการพูดประโยค เช่น ท่านอยากดื่ม ‘ชาร้อนแบบเย็น’ หรือ ท่านทำงาน ‘เร็วแบบช้า’) – หากใครจะบอกว่าท่านนายกฯหมายถึงระบบที่มีเปิดให้คน ‘สมัคร’ เป็นทหาร และ ‘เกณฑ์’ หากยอดสมัครใจไม่ครบ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะระบบปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นการพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายถึงการมีนโยบายที่แตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันแต่อย่างไร
4. (แถม) ท่านรัฐมนตรีกลาโหมกล่าวในสภาฯ เสมือนว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารอาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นความจริง
รัฐธรรมนูญ มาตรา 50(5) ระบุว่า ‘บุคคลมีหน้าที่ รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ซึ่งหมายความบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (ซึ่งหมายรวมถึงทุกเพศ) จะถูก ‘เกณฑ์’ หรือ ‘บังคับ’ ให้ไปรับราชการทหาร ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายที่ระบุให้ชัดถึงหน้าที่ดังกล่าว:
– ปัจจุบัน ‘ชายไทยตามกฎหมาย’ ยังถูกบังคับให้ไปรับราชการทหารได้ เพราะมี พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 ที่ไประบุในมาตรา 7 ว่า ‘ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน’ พร้อมกับเงื่อนไขรายละเอียดและข้อยกเว้นต่างๆ
– แต่ในทางกลับกัน ‘หญิงไทยตามกฎหมาย’ ไม่อยู่ในสถานะที่จะถูกบังคับให้ไปรับราชการทหารได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายอะไรที่ระบุหน้าที่หรือเปิดช่องให้มีการบังคับเช่นนั้น
ดังนั้น การแก้ไข พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 เพื่อยกเลิกการบังคับ ‘ชายไทยตามกฎหมาย’ ให้ไปรับราชการทหารในยามที่ไม่มีสงคราม จึงเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
พริษฐ์กล่าวต่อว่า ตนตระหนักดีว่าการ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ ทำได้ 2 วิธี:
วิธีที่ 1 = เลิกแบบลุ้นปีต่อปี (ผ่านการลดจำนวนยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปีและเพิ่มยอดสมัครใจในแต่ละปี เพื่อหวังให้ยอดสมัครใจสูงกว่ายอดกำลังพลที่ต้องการ จนทำให้ไม่ต้อง ‘เกณฑ์’ ใครในปีนั้นๆ โดยไม่มีการแก้กฎหมาย)
วิธีที่ 2 = เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ (ผ่านการแก้กฎหมาย พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 เพื่อตัดอำนาจกองทัพในการบังคับคนมาเป็นทหารในยามที่ไม่มีสงคราม)
ตนเชื่อว่าวิธีที่ 2 ไม่เพียงแต่จะให้ความชัดเจนกว่า แถมยังเพิ่มแรงกดดันให้กองทัพในการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารอย่างเร่งด่วน แต่ยังเป็นวิธีที่น่าจะสอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เขียนไว้ในเว็บไซต์พรรคว่าสนับสนุนให้มีการ ‘แก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’
แม้ผมเข้าใจถึงบริบทของรัฐบาลผสมที่อาจต้องมีการประนีประนอมในเชิงนโยบายบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายที่ต้องอาศัยมติ ครม. (ซึ่งต้องการฉันทามติจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล) หรือต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมากที่ต้องแบ่งกันออกไปตามนโยบายของแต่ละพรรค แต่นโยบาย ‘ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร’ เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยไม่ควรจะต้องเปลี่ยนจุดยืนแม้ในบริบทของรัฐบาลผสม เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยตนเอง โดยไม่กระทบการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น เนื่องจาก:
1. รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเสนอกฎหมายเข้าสภาในฐานะ ครม. เอง เพราะพรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสู่สภาฯ แล้ว และรอเพียงคำรับรองจากนายกฯ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น มติ ครม.) เพื่อให้ร่างดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ (เนื่องจากเป็นร่างการเงิน) – (แต่หากพรรคเพื่อไทยเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญกับร่างของพรรคก้าวไกล ก็สามารถให้ สส. เพื่อไทยยื่นร่างประกบได้)
2. พรรคเพื่อไทยสามารถโหวตรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวได้ แม้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นอาจไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะหากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเห็นชอบ (ซึ่งมี สส. รวมกันประมาณ 290+ คน) ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะสามารถได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส. ในชั้นรับหลักการ (วาระที่ 1) โดยหากพรรคเพื่อไทยเห็นต่างในบางรายละเอียด ก็สามารถไปเสนอแก้ไขต่อได้ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการและวาระที่ 2
3. หากกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากสภาฯจนนำมาสู่การบังคับใช้ รัฐมนตรีที่จะต้องทำหน้าที่ต่อในการบริหารจัดการผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย (รมต. สุทิน คลังแสง) ไม่ใช่จากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น
“ผมหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะยืนหยัดแน่วแน่ในการเดินหน้ายกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เพราะหากเป็นเช่นนั้น ประชาชน (โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นถัดๆไป) จะจดจำกันทั่วประเทศ ว่าเราได้ร่วมกันยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารโดยสำเร็จ ภายใต้นายกฯที่มีชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน” พริษฐ์ระบุ