หน้าแรก Voice TV สื่อยักษ์สหรัฐฯ คาดหวัง ‘เศรษฐา’ ชี้ฟื้นสัมพันธ์พญาอินทรี-ช้างเผือกรอบ 20 ปี

สื่อยักษ์สหรัฐฯ คาดหวัง ‘เศรษฐา’ ชี้ฟื้นสัมพันธ์พญาอินทรี-ช้างเผือกรอบ 20 ปี

108
0
สื่อยักษ์สหรัฐฯ-คาดหวัง-‘เศรษฐา’-ชี้ฟื้นสัมพันธ์พญาอินทรี-ช้างเผือกรอบ-20-ปี

สำนักข่าว Bloomberg ของสหรัฐฯ รายงานถึงความคาดหวังที่มีต่อตัว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน พร้อมชี้ว่าสหรัฐฯ มองเห็นโอกาสที่ดีที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ในการสานสัมพันธ์การเป็นพันธมิตรกับไทยให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หลังจากที่ทั้งสองชาติประสบกับความสัมพันธ์อันตึงเครียด ภายใต้ระบอบการปกครองของไทย ที่มีทหารคอยให้การหนุนหลังก่อนหน้านี้

ในช่วงสัปดาห์นี้ เศรษฐากำลังเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในมหานครนิวยอร์ก และมีรายงานว่านายกรัฐมนตรีไทย จะนำว่าที่ผู้บัญชาการทหารที่กำลังขึ้นรับตำแหน่ง เข้าร่วมการเจรจาด้านความมั่นคงกับทางการสหรัฐฯ โดยในขณะที่เศรษฐากำลังหาทางเข้าพบ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีไทยชี้ให้เห็นว่าการสร้างสายสัมพันธ์ใดๆ ต่อสหรัฐฯ ของไทยจะไม่เป็นภาระต่อจีน

Bloomberg รายงานว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับชาติตะวันตก ในขณะที่เศรษฐากำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่ล่าช้าต่อการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในขณะที่นายกรัฐมนตรีไทยกำลังอยู่ในสหรัฐฯ เขาจะเข้าเจรจาเพื่อรับการพิจารณาการลงทุนจาก Microsoft, Google และ Tesla

ทั้งนี้ การเจรจาระหว่างเศรษฐากับไบเดนจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นยังคงไม่มีความแน่ชัด เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังชั่งน้ำหนักว่า ทางการสหรัฐฯ จะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสนับสนุนทหาร ซึ่งเข้ายึดอำนาจผ่านการรัฐประหารในปี 2557 อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลของไทย ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตศัตรูทางการเมืองจะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหน ในขณะที่พรรคสนับสนุนประชาธิปไตยที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป ยังคงเผชิญกับภัยคุกคามที่อาจถึงขั้นถูกยุบพรรค

อย่างไรก็ดี ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่รับผิดชอบใกล้ชิดในประเด็นด้านไทย ทางการสหรัฐฯ มองเห็นโอกาสที่หาได้ยาก ในการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในหลายด้าน ตั้งแต่การลงทุนและการค้า ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและพลังงาน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า โอกาสดังกล่าวอาจขยายไปถึงประเด็นยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมถึงการยกระดับเครื่องบินรบที่มีอยู่ของไทยด้วย

การสานสัมพันธ์ดังกล่าวของสหรัฐฯ ต่อไทย สามารถช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพันธมิตรสหรัฐฯ อย่างไทย ที่นานมาแล้วเริ่มหันเหความใกล้ชิดไปยังจีนมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่นเดียวกับการที่สหรัฐฯ พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบพันธมิตรระดับภูมิภาค เมื่อเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นกับจีน

“การรัฐประหารในปี 2557 สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความเข้มแข็งระหว่างประเทศของไทย และบังคับให้รัฐบาลทหารต้องแสวงหาการสนับสนุนจากจีน และตั้งแต่นั้นมา นโยบายต่างประเทศของไทยก็ตกเป็นเหยื่อของจีน” ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ” ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ”

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย และฟิลิปปินส์เป็นเพียงแค่ 1 ใน 2 ชาติพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่สหรัฐฯ มีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น สงครามได้เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงพื้นที่ทางการทหารของ 2 ชาติพันธมิตรได้อย่างเข้มข้น และปัจจุบันนี้ ทั้งสองประเทศก็เป็นพื้นที่สำหรับการฝึกซ้อมรบร่วมที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังนับว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรด้านการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญในภูมิภาค

ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับไทยเข้าสู่จุดตึงเครียดด้วยวงจรรัฐประหาร และการประท้วงบนท้องถนนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารปราบปรามกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย โดยในปี 2557 สหรัฐฯ ประณามการรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ตัดทอนความช่วยเหลือทางการเงินตามที่กฎหมายจัดสรรให้แก่ไทยด้วย

ภายหลังจากการรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการของไทยมีความจำเป็นในการปรับปรุงเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลักดันให้นายพลของไทยสานความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งการลงทุนอันดับต้นๆ ของไทย ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยระบุ โดยบริษัทจีนให้คำมั่นต่อไทยว่าจะระดมทุนเป็นมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

“เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ มาเป็นเวลา 160 ปีแล้ว สำหรับจีน เรามีลูกหลานชาวจีนจำนวนมากรวมถึงตัวผมด้วย” เศรษฐากล่าวเมื่อวันจันทร์ (18 ก.ย.) หลังจากเขาเปิดเผยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขาจะเดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในเดือนหน้า “จีนก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องรักษาจุดยืนที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ด้วยท่าทีดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีไทย ไม่ใช่ทุกฝ่ายที่คาดว่ารัฐบาลไทยจะกลับมามีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว “ผมไม่เห็นว่าไทยจะเคลื่อนไปในทิศทางของฟิลิปปินส์ ซึ่งพวกเขายอมรับความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยมากขึ้นอย่างใกล้ชิด และเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม” โจชัว เคอร์ลันต์ซิก นักวิชาการอาวุโสประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าว โดยเคอร์ลันต์ซิกกล่าวเสริมว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความทะเยอทะยานด้านความมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไม่ว่าอย่างไรก็ดี พ.ท.มาร์ติน ไมเนอร์ส โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ จะทำการสำรวจความร่วมมือในขอบเขตใหม่ๆ กับไทย เช่น กิจการด้านอวกาศและไซเบอร์สเปซ ตลอดจนโครงการการศึกษาด้านการป้องกันร่วมกัน และการฝึกซ้อมทางทหารแบบผสมผสาน

“เราจะยังคงแสวงหาโอกาสในการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรไทยของเรา ในประเด็นด้านความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกองทัพไทยให้ทันสมัย” ไมเนอร์สกล่าว โดยไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงที่เป็นไปได้ใดๆ ในการจัดหายุทโธปกรณ์ เพื่อเสริมกองบินเครื่องบินรบไอพ่นที่มีอายุการใช้งานเก่า หลังจากมีรายงานในก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะขายเครื่องบินรบล่องหน F-35 แก่ประเทศไทย

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังสามารถร้องขอการสนับสนุนจากไทย ต่อประเด็นความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมา พยายามที่จะขยายระเบียงมนุษยธรรมเข้าไปยังเมียนมา นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจต้องการรื้อฟื้นการเจรจา ในประเด็นการคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันและก๊าซของรัฐ ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ที่มีบริษัทของไทยเข้าไปมีส่วนได้เสียด้วย

Bloomberg รายงานว่า เมื่อโอกาสเข้ามาถึง เศรษฐาจะต้องตัดสินใจว่าเขาต้องการจะไปไกลแค่ไหน ในการปรับสมดุลความสัมพันธ์ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กลับมาดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปอีกครั้งแล้ว นับเป็นการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยครั้งแรก ตั้งแต่การเจรจาครั้งล่าสุดถูกระงับลง หลังการทำรัฐประหารโดยกองทัพไทยเมื่อปี 2557

ทีมนโยบายต่างประเทศของเศรษฐา “กระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมายืนหยัดได้” ศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าว “พวกเขาต้องระมัดระวังในการสร้างสมดุล ระหว่างการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน และในการทำเช่นนั้น ผมคิดว่าแตกต่างเพียงเล็กน้อย”

ที่มา:

https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-19/us-sees-once-in-a-generation-chance-to-reset-rocky-thai-alliance?leadSource=uverify%20wall&fbclid=IwAR3TzoKd685KbTg57FEpmjy4G9-nzAURop_o-f6d1jt-N20rEU7gYLob3y8

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่