ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า จีนใช้จ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพื่อกำหนดทิศทางการรับรู้ของจีนผ่านอิทธิพล การเซ็นเซอร์ และการบิดเบือนข้อมูล ในการรณรงค์ขนาดใหญ่ที่อาจคุกคามเสรีภาพทั่วโลก
“ปักกิ่งลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างระบบนิเวศข้อมูลระดับโลก ที่ส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อและอำนวยความสะดวกในการเซ็นเซอร์ และการแพร่กระจายข้อมูลที่บิดเบือน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว ในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ก.ย.) ภายหลังการตีพิมพ์รายงานของ Global Engagement Center
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ทางการจีนใช้ “วิธีการหลอกลวงและบีบบังคับ” หลายประการ เพื่อความพยายามในการมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมข้อมูลระหว่างประเทศ และ “บิดเบือนสภาพแวดล้อมข้อมูลทั่วโลกให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง” รายงานยังเตือนด้วยว่า “หากไม่มีการตรวจสอบ ความพยายามของจีนจะปรับโฉมภูมิทัศน์ข้อมูลทั่วโลก ทำให้เกิดอคติและช่องว่างที่อาจทำให้ประเทศต่างๆ ตัดสินใจโดยยึดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของตน รองจากผลประโยชน์ของปักกิ่ง”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ยกระดับการรณรงค์เพื่อการสร้างอิทธิพลของตัวเองบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น X (ชื่อเดิม Twitter) และ YouTube โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรง เช่น ประเด็นซินเจียง ทะเลจีนใต้ และไต้หวัน ในขณะที่สื่อของรัฐบาลจีนได้จัดทำความร่วมมือบทบรรณาธิการ กับสื่อทั่วไปและสื่อออนไลน์ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้งถึงกับเข้าซื้อการควบคุมสื่อด้วย
รายงานของสหรัฐฯ ระบุถึงองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ของกลยุทธ์สื่อระดับโลกของจีน ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากการโฆษณาชวนเชื่อและการเซ็นเซอร์ การส่งเสริมความเป็นเผด็จการทางดิจิทัล การแสวงหาประโยชน์จากองค์กรระหว่างประเทศและความร่วมมือทวิภาคี การจับคู่ทางเลือกร่วมและความกดดัน และการใช้การควบคุมสื่อภาษาจีน
ทั้งนี้ ไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองตัวเอง ในขณะที่จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นของจีน ตั้งอยู่ในแนวหน้าของสงครามสื่อกับจีนมายาวนาน โดย โจเซฟ วู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ระบุกับสำนักข่าว Al Jazeera เมื่อต้นเดือนนี้ว่า รัฐบาลไต้หวันกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับจีน ที่จะยกระดับการรณรงค์การให้ข้อมูลที่ผิด และการบิดเบือนข้อมูลก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้ วูยังตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการของจีนว่า จีนพยายามวางกรอบการเล่าเรื่องเกี่ยวกับยูเครนในสายตาต่อไต้หวัน
“เริ่มจากสงครามในยูเครน จีนกำลังผลักดันเรื่องเล่าของรัสเซียในไต้หวัน ‘สงครามเริ่มต้นโดยสหรัฐอเมริกาหรือ NATO และสหรัฐอเมริกาไม่สนใจที่จะช่วยเหลือยูเครน สหรัฐฯ ไม่สนใจสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซีย เพราะสหรัฐฯ ยังคงจัดหาอาวุธให้ยูเครนต่อไป’” วูกล่าว “พวกเขากำลังผลักดันให้เกิดมันขึ้นในวันแล้ววันเล่า เมื่อกลางปีที่แล้ว เราได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน และความเชื่อมั่นของชาวไต้หวันต่อสหรัฐอเมริกาลดลงประมาณ 10% นั่นค่อนข้างสำคัญ”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ในปี 2564 มีผู้อินฟลูเอนเซอร์เกือบ 100 คนเผยแพร่ข้อความอย่างเป็นทางการของจีนในภาษาต่างๆ อย่างน้อย 20 ภาษา บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่ง ไปยังผู้ชมที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 11 ล้านคนทั่วโลก
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังยกตัวอย่างอื่นๆ ของความพยายามของจีน ในการกำหนดรูปแบบการเล่าเรื่องระดับโลก โดยอาศัยบัญชีออนไลน์ที่สนับสนุนรัฐบาลจีนมากกว่า 1,000 บัญชี ที่พยายามเข้ามาระงับรายงานจาก Safeguard Defenders ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาเปิดเผยให้เห็นการดำเนินงานของจีนในสถานีตำรวจในต่างประเทศที่ต้องสงสัยใน 53 ประเทศรอบโลก
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามของจีนในการกำหนดรูปแบบการเล่าเรื่อง ยังขยายไปสู่ฮาร์ดแวร์ทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุโดยอ้างถึงรายงานเมื่อเดือน ก.ย. 2564 จากศูนย์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติของลิทัวเนียที่พบว่าโทรศัพท์มือถือที่ผลิตโดย Xiaomi มีความสามารถเริ่มต้น ในการตรวจสอบเซ็นเซอร์วลีอย่างน้อย 449 วลี โดยแม้ว่าระบบดังกล่าวจะถูกปิดใช้งานในโทรศัพท์ Xiaomi ในยุโรป แต่ระบบนี้สามารถเปิดใช้งานได้จากระยะไกล
กลไกการตรวจสอบเซ็นเซอร์ในโทรศัพท์ Xiaomi ดังกล่าว ยังสะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่ออนไลน์ ที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดของจีน ซึ่งคำ วลี และรูปภาพ ที่ทางการจีนถือว่าละเอียดอ่อนนั้น ไม่สามารถโพสต์ได้ หรือถ้าหากถูกโพสต์จะถูกลบออกจากระบบได้อย่างรวดเร็ว
รายงานของสหรัฐฯ ยังอ้างถึงความร่วมมือด้านสื่อที่พัฒนาโดย China Central Television (CCTV) ของรัฐบาลจีน โดยระบุว่า CCTV ให้บริการฟุตเทจวิดีโอและสคริปต์โทรทัศน์ฟรี แก่องค์กรข่าวและกลุ่มสื่อต่างประเทศ 1,700 แห่ง โดยระบุว่าเนื้อหาดังกล่าว “ในหลายกรณี” ได้รับการจัดกระจายใหม่โดยสื่อในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยไม่มีการระบุแหล่งที่มาของข้อมูล นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลจีน อาทิ China Daily ยังมีข้อตกลงที่คล้ายกันกับ CCTV
จีนยังพยายามสร้างอิทธิพลต่อการรับรู้ ผ่านโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยจีนได้นำกลุ่มนักการทูตและผู้สื่อข่าวออกเดินทางไปยังเขตซินเจียงทางตะวันตกอันไกลโพ้น ซึ่งสหประชาชาติกล่าวหาว่า จีนอาจก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการจับกุมชาวอุยกูร์ที่เป็นมุสลิมมากถึง 1 ล้านคน เพื่อส่งตัวเข้าไปในค่ายล้างสมอง
ในช่วงเดือนนี้ กลุ่มผู้สื่อข่าว 22 คนจากประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศ รวมถึงฝรั่งเศส มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย ยังได้เดินทางเยือนภูมิภาคซินเจียงของจีนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ยังมีรายงานวิดีโอของ CCTV เกี่ยวกับการเยือนดังกล่าวของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่เผยให้เห็นว่าผู้สื่อข่าวได้เข้ารับชมการเต้นรำทางวัฒนธรรม และระบุกับ CCTV ว่า พวกเขาประทับใจกับความสงบสุขและความมั่นคงของซินเจียง และความสุขของประชาชน
รายงานจากผู้สื่อข่าวมาเลเซียคนหนึ่ง ที่ร่วมการเดินทางเยือนซฺนเจียงในครั้งนี้ ได้ทำการบันทึกรูปถ่ายมีดและปืนจาก “นิทรรศการการโจมตีของผู้ก่อการร้ายรายใหญ่และอาชญากรรมรุนแรง” อย่างไรก็ดี ทางการจีนกล่าวแย้งว่า ค่ายเหล่านี้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพที่จำเป็น ในการรับมือกับ “ลัทธิหัวรุนแรง” ในซินเจียง
สหรัฐฯ กล่าวว่าจีนกำลังสร้าง “ชุมชนเผด็จการดิจิทัล” ด้วยการส่งออกระบบเฝ้าระวังและระบบ “เมืองอัจฉริยะ” แบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสถานที่ต่างๆ เช่น ซินเจียง นอกจากนี้ การติดตั้งเทคโนโลยีที่ผลิตโดยบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei ยังทำให้ประเทศต่างๆ เสี่ยงต่อการได้รับอิทธิพลจากจีนอีกด้วย โดยในในเดือน พ.ย. 2564 Huawei ระบุว่ามีอย่างน้อย 18 ประเทศที่ใช้มิดเดิลบ็อกซ์ที่ผลิตโดย Huawei ซึ่งอำนวยความสะดวกและตรวจสอบการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายออนไลน์บางแห่ง เพื่อบล็อกการเข้าถึงบางไซต์
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่แบน Huawei จากเครือข่ายโทรคมนาคมขั้นสูง ท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เนื่องจากมีความผูกพันของรัฐบาลจีนกับบริษัท Huawei ทั้งนี้ Huawei ได้ปฏิเสธการเชื่อมโยงดังกล่าวกับรัฐบาลจีน
ที่มา: