หน้าแรก Voice TV 'นายกฯ' ห่วง ‘สุโขทัย' รับมวลน้ำใหญ่ สั่งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

'นายกฯ' ห่วง ‘สุโขทัย' รับมวลน้ำใหญ่ สั่งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

91
0
'นายกฯ'-ห่วง-‘สุโขทัย'-รับมวลน้ำใหญ่-สั่งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

‘เศรษฐา’ ห่วงสถานการณ์น้ำท่วม จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุบลฯ ชี้แม้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ต้องระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมดูแล-ฟื้นฟู-ซ่อมแชมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน

วันที่ 1 ต.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสภาพอากาศ จาก ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำ 

ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์ กล่าวรายงานสรุปสภาพอากาศว่า  ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพุดผ่านส่งผลให้ให้ภาคเหนือ และภาคอีสานได้รับผลกระทบจากน้ำฝน มีน้ำท่วมขัง และดินสไลด์บางพื้นที่ หลังจากนี ตั้งแต่วันที่ 3-7 ก.ย. น้ำฝนจะลดน้อยลง มวลอากาศเย็นเข้ามาแทนที่ และฝนกลับมาตกจำนวนมากอีกครั้ง ตั้งแต่ 7 ก.ย. เป็นต้นไป สำหรับข้อกังวลเรื่องพายุโคอินุ ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ

ด้าน สุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวบรรยายสรุปสถานการณ์น้ําว่า ภาพรวมจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ทําให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณ น้ําล้นตลิ่งและน้ําท่วมขังในพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ําวัง มีพื้นที่ น้ําท่วมเนื่องจากปริมาณน้ําในแม่น้ําวังล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบกับจังหวัดลําปาง และจังหวัดตากบางส่วน ลุ่มน้ํา ยม-น่าน 

จากปริมาณฝนที่ตกในเขตจังหวัดแพร่ ทําให้ปริมาณน้ําในแม่น้ํายมเพิ่มสูงขึ้น เริ่มมีผลกระทบกับ จังหวัดสุโขทัยบางส่วน ลุ่มน้ําเจ้าพระยา ปริมาณน้ําที่จังหวัดนครสวรรค์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ําในแม่น้ําปิงและแม่น้ําน่านยังคงสูงขึ้น ทําให้ต้องมีการบริหารจัดการน้ําและจัด จราจรน้ําในพื้นที่ลุ่มน้ําเจ้าพระยาตอนล่าง 

โดยควบคุมปริมาณน้ําไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มีผลกระทบ ต่อพื้นที่ท้ายน้ําน้อยที่สุด ในส่วนลุ่มน้ําชี-มูล พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ําชีปริมาณน้ําเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่แม่น้ําชีตอนล่างยังคงมีน้ําล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร แต่มีแนวโน้ม ลดลง และในส่วนของลุ่มน้ํามูล มีน้ําท่วมบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากปริมาณน้ําล้นตลิ่งบริเวณสถานี M.7 อําเภอวารินชําราบ โดยปริมาณน้ําดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ําโขง ซึ่งปัจจุบันสามารถระบายน้ําได้อย่างต่อเนื่อง

ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ จากทุกหน่วยงาน ที่ ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด และเป็นห่วงพี่น้องประชาชน วันนี้ต้องมาดูด้วยตัวเองที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำแห่งนี้ ทั้งเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real Time เพื่อรับฟังข้อติดขัดในการปฏิบัติงาน เพื่อช่วยให้ท่านได้ทำงานอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด ที่สำคัญก็อยากมาให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน

ขณะที่ เศรษฐา กล่าวว่า วันนี้มีสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ กรมอุตุฯ และ ปภ. มาร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำและร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อให้การทำงานคล่องตัวที่สุด เบื้องต้น จากที่ได้รับฟังรายงาน เป็นห่วงสถานการณ์ในจังหวัดลำปาง แพร่ และอุบลฯ ที่ถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องดูแล ฟื้นฟูและซ่อมแชมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนอย่างเรงด่วน โดยเฉพาะ ณ ขณะนี้จังหวัดสุโขทัย น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะต้องรองรับมวลน้ำที่ไหลลงมาจากจังหวัดแพร่ ซึ่งไหลเข้าท่วมทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและตัวเมืองบางส่วนแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำเรื่องสำคัญที่ต้องหารือ คือการวางแผนรับมือกับมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกระลอก ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปกว่าเดิม การประชุมวันนี้ขอให้ทุกท่านให้ความเห็นอย่างเต็มที่ ติดขัดอะไรขอให้พูดกันตรงๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันสถานการณ์

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการสั่งการในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติม โดยยอมรับว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่ จ.สุโขทัย เนื่องจากวันพรุ่งนี้ (2 ต.ค.) เวลา 08.00 น. มวลน้ำก้อนใหญ่จะไหลเข้าพื้นที่ แต่ก็ได้สั่งการให้รับมือแล้ว 

ส่วนการพัฒนาระบบเตือนภัยให้แก่ประชาชน อาทิ ระบบ SMS เตือนภัย เศรษฐา กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เดี๋ยวไปดูทั้งหมด 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่