หน้าแรก Voice TV สส. 'กก.' ร่วมม็อบวันที่อยู่อาศัยโลก จี้ รบ. เร่งแก้ปัญหา ปชช. 4 กลุ่ม

สส. 'กก.' ร่วมม็อบวันที่อยู่อาศัยโลก จี้ รบ. เร่งแก้ปัญหา ปชช. 4 กลุ่ม

64
0
สส-'กก'-ร่วมม็อบวันที่อยู่อาศัยโลก-จี้-รบ-เร่งแก้ปัญหา-ปชช.-4-กลุ่ม

‘ก้าวไกล’ ร่วมแสดงจุดยืนข้างภาคประชาชนเนื่องใน “วันที่อยู่อาศัยโลก” เรียกร้องนโยบายแก้ปัญหากลุ่มคนอยู่ทับซ้อนที่ป่า-ที่ดินรัฐ-ชาวเล-คนไร้บ้าน หยุดรุกไล่ที่ประชาชน จวกกรณี “บิลลี่” สะท้อนรัฐล้มเหลวปกป้องสิทธิในที่อยู่อาศัยของประชาชน

2 ต.ค. 2566 พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกร้องของภาคประชาชนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นทุกวันจันทร์ของสัปดาห์แรกในเดือนตุลาคม เพื่อย้ำเตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย

โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ได้ร่วมการชุมนุมเรียกร้องเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายเครือข่าย ที่นำโดยกลุ่มพีมูฟ ซึ่งเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังหน้าองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน

เลาฟั้ง ระบุว่าสถานการณ์ด้านที่อยู่อาศัยในประเทศไทยยังคงอยู่ในจุดที่น่ากังวล โดยเฉพาะหลังจากกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพากษาคดีที่ พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวและสูญหาย จากการเป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยง บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย หลังจากถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับโยกย้ายและเผาหมู่บ้าน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้อกล่าวหาฆาตกรรมนั้นศาลยกฟ้อง 

กรณีดังกล่าวถือเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่ารัฐไทยทั้งละเลยและล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัยของคนจน รวมทั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ที่ระบุให้รัฐพึงจัดให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม เพราะการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย เป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตามยังมีคนในสังคมไทยประมาณ 12 ล้านคนที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย ทั้งกลุ่มที่ไม่มีที่อยู่อาศัย กลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีความมั่นคงเพราะอยู่ในเขตป่าตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ และกลุ่มที่อยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย

เลาฟั้งกล่าวต่อไป ว่าจากการติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาล พบว่ามีความน่ากังวลในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการละเลยต่อปัญหาสิทธิในที่ดินสำหรับอยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ในเขตป่า ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง คนพื้นราบหรือคนที่อยู่บนเกาะ และยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่อยู่ในที่ดินอื่นของรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุ ที่ของกองทัพ ที่ของการรถไฟ ซึ่งมีการเรียกร้องให้พิสูจน์สิทธิ์หรือแก้ไขระเบียบกฎหมาย แต่รัฐก็ไม่ดำเนินการ และในทางตรงกันข้าม ยังมีการกดดันให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่อยู่บ่อยครั้งด้วย

นั่นจึงเป็นที่มานโยบายของพรรคก้าวไกลด้านที่อยู่อาศัยทั้ง 2 นโยบายหลัก คือ 1) การกระจายการถือครองที่ดิน ผ่านธนาคารที่ดินเพื่อสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนและได้รับการอุดหนุนเงินทุนให้มีที่ดินสำหรับอยู่อาศัย และการพิสูจน์สิทธิในที่ดินและออกเอกสารรับรองสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ 2) นโยบายบ้านตั้งตัว 350,000 หลัง โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าผ่อนบ้านสำหรับผู้ซื้อบ้านที่พักอาศัยใหม่เป็นหลังแรก หรือการช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านหรือห้องพัก สำหรับผู้เช่าจำนวน 250,000 ราย ในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือน

เลาฟั้งกล่าวต่อไป ว่าแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคจะดำเนินการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว พร้อมกับตรวจสอบและเสนอแนะรัฐบาลให้ดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายพรรคให้ได้มากที่สุด

“ในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก พรรคก้าวไกลจะติดตามและตรวจสอบ รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยในระยะยาวต้องมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมและปลอดภัย แต่ในระยะสั้นขอเรียกร้องว่ารัฐจะต้องหยุดกระทำการใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิในที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตปกติของคนจน เช่น การบังคับตามกฎหมายป่าไม้หรือการดำเนินคดีต่อชาวบ้านที่ไม่เป็นธรรม การไม่อนุญาตให้ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นต้น” เลาฟั้งระบุ

นอกจากนี้ ในส่วนของพรรคก้าวไกลยังได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั้ง 4 กลุ่มหลัก อันได้แก่

1) กลุ่มคนที่อยู่ในเขตป่าทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงและคนพื้นราบ และคนที่อยู่บนเกาะ ประมาณ 1.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 5 ล้านคน

2) กลุ่มชาวเล ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่ถูกเบียดขับจากการพัฒนา และถูกจัดให้เป็นกลุ่มละเมิดกฎหมาย กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 44 ชุมชน 3,450 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 12,000 คน ขณะนี้อาศัยในที่ดินของกรมเจ้าท่า ป่าชายเลน ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ

3) กลุ่มคนจนเมืองที่อยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด ประมาณ 5,500 ชุมชนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากร 1.5 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 6.75 ล้านคน เฉพาะในกรุงเทพประมาณ 1,000 แห่ง

4) กลุ่มที่อยู่ในที่ดินการรถไฟทั่วประเทศรวม 36 จังหวัด จำนวน 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ซึ่งบางรายเพียงต้องการได้สิทธิ์ในการเช่าอย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่