หน้าแรก Voice TV สร้างเขื่อนสานะคาม ได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลกระทบร่องน้ำลึก-เส้นเขตแดนไทย-ลาว

สร้างเขื่อนสานะคาม ได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลกระทบร่องน้ำลึก-เส้นเขตแดนไทย-ลาว

93
0
สร้างเขื่อนสานะคาม-ได้ไม่คุ้มเสีย-ส่งผลกระทบร่องน้ำลึก-เส้นเขตแดนไทย-ลาว

กรมแผนที่ทหาร-กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศเห็นพ้อง สร้างเขื่อนสานะคามกั้นโขงส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึก-เส้นเขตแดนไทย-ลาว สทนช. มึนอีไอเอไร้เรื่องผลกระทบข้ามแดนทั้งๆ ที่อยูห่างชายแดนไทย 1.5 กม. กสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายวงานว่า ระหว่างวันที่ 11-12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)นำโดยศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่แม่น้ำโขงด้านอำเภอเชียงคาน จ.เลย เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีเขื่อนสานะคาม โดยภายหลังการตรวจสอบในพื้นที่แล้ว ได้มีการจัดประชุมโดยเชิญหน่วยงานต่างๆมาร่วมชี้แจงที่ห้องประชุมอำเภอเชียงคาน โดยศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องของคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน(ETOs Watch) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมประมง, กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงตัวแทนชาวบ้านจาก อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย, จ.หนองคาย และ จ.นครพนม เข้าร่วม

ทั้งนี้ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ แสดงข้อมูลขั้นตอนกำดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านแสดงความเห็นถึงข้อกังวลต่อผลกระทบด้านต่างๆ รวมทั้งตั้งคำถามต่อหน่วยงานเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการเขื่อนสานะคาม โครงการเขื่อนปากชม และโครงการเขื่อนไซยะบุรีที่ก่อสร้างเสร็จแล้วในลาว

ศยามล ไกยูรวงศ์ กสม. กล่าวว่า เรื่องแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้ายังเป็นข้อถกเถียงในสังคมไทย และเพื่อให้คนไทยได้รับข้อมูลของโครงการที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขง กรรมการกลางที่ทำหน้าที่วินิจฉัยจะรวบรวมออกเป็นรายงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบทเรียนผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนในจีนและเขื่อนไซยะบุรีในลาว ทั้งหมดจะเป็นความคิดเห็นส่งให้รัฐบาลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมทั้งเพื่อให้เกิดกระบวนการเยียวยาผลกระทบหรือความรับผิดชอบจากรัฐบาลที่เป็นเจ้าของโครงการข้ามพรมแดน เพราะในอนาคตโครงการข้ามพรมแดนจะมีมากขึ้น เพื่อเป็นการวางรากฐานในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาต่างๆ

ศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ได้รับทราบข้อกังวลของทุกฝ่ายมาโดยตลอด โดยโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงเป็นโปรเจคระดับรัฐบาล ทางจังหวัดทำได้คือสะท้อนข้อกังวลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา ส่วนในพื้นที่จังหวัดเลยจำเป็นต้องปรับแผนเตรียมรับมือหรือหาทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น กรณีตลิ่งพังต้องของงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเพื่อป้องกัน หรือผลกระทบจากระดับน้ำขึ้นลงต้องมีมาตรการรองรับ ส่วนเรื่องระบบนิเวศและการท่องเที่ยว ต้องนำข้อมูลชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้และเตรียมปรับตัวรับผลกระทบ

ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า แม่น้ำโขงตอนล่างมีโครงการเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 11 โครงการ โดยมี 9 โครงการอยู่ในลาว และอยู่ในเขตไทย-ลาว 2 โครงการ ล่าสุดมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในลาว อีกทั้งเขื่อนหลวงพระบางกำลังเร่งก่อสร้าง ส่วนเขื่อนปากลายและเขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างไปแล้ว สำหรับ อ.เชียงคาน จ.เลย จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนสานะคามที่อยู่ห่างจากเขตแดนไทยบริเวณจุดบรรจบแม่น้ำเหืองกับแม่น้ำโขงเพียง 1.5 กิโลเมตร และเขื่อนปากชมที่จะกั้นแม่น้ำโขงที่บ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย โครงการเขื่อนทั้งหมดมีเป้าหมายผลิตกระแสไฟส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และมีการร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจจีน

ไพรินทร์ กล่าวต่อว่า กรณีเขื่อนสานะคามผู้พัฒนาโครงการคือบริษัทต้าถังของจีนได้ส่งเอกสารผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ให้กับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า(PNPCA) ระบุว่าโครงการเขื่อนสานะคามไม่มีผลกระทบข้ามพรมแดนกับประเทศไทย จึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทั้งจาก กสม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องการรับรู้ข้อมูลว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างไร

“โครงการนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้ำขึ้นลงสูงถึง 4 เมตร อาจมีผลกระทบให้ตลิ่งพังทลายไปจนถึงเวียงจันทร์ และกังวลเรื่องเขตแดนไทย-ลาวที่ยังไม่มีความชัดเจนการปักปัน และผลกระทบต่อวิถีชุมชน รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจสำคัญของท้องถิ่น เป็นประเด็นที่อยากให้มีการตรวจสอบ” ไพรินทร์ กล่าว

ด้าน ดร.วินัย วังพิมูล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า จุดก่อสร้างเขื่อนสานะคามอยู่ตรงข้ามเขตแดนไทยไม่เกิน 2 กิโลเมตร ใกล้พรมแดนไทยมาก จึงเป็นข้อกังวลที่ต้องช่วยกันติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ทางการลาวได้ยื่นผลการศึกษาอีไอเอตั้งแต่ปี 2562 พบว่ามีการศึกษาผลกระทบในระยะรัศมีจากท้ายเขื่อนเพียง 2 กิโลเมตร แต่ไม่ได้ศึกษาข้ามพรมแดนในเขตไทย ทำให้มีแต่ข้อมูลเก่า ทางไทยได้ร้องขอให้มีการสำรวจผลกระทบเพิ่ม ทั้งเรื่องความเร็วของการระบายน้ำ ล่องน้ำ ผลกระทบต่อพรมแดน ระบบนิเวศ การกัดเซาะ ซึ่งแม้ผู้พัฒนาโครงการอยากเร่งให้มีการก่อสร้าง แต่ผู้ได้รับผลกระทบคือไทยต้องยื้อเวลาเพื่อให้มีการชี้แจงผลกระทบที่ชัดเจน และจะมีมาตรการลดผลกระทบอย่างไรโดยผ่านกระบวนการ PNPCA ที่ทั้ง 4 ประเทศท้ายน้ำต้องเห็นพ้องตรงกันด้วย

ตัวแทนจากกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรณีเขื่อนสานะคามอยู่ห่างจากพรมแดนเพียง 2 กิโลเมตร จึงต่างจากกรณีเขื่อนปากแบง โดยทางการลาวยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจน จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อเรื่องเขตแดนไทย-ลาวมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันไทยยึดถือการปักปันเขตแดนตามล่องน้ำลึกเป็นไปตามสนธิสัญญาที่สยามทำกับฝรั่งเศส ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงของล่องน้ำ และเกาะแก่งกลางน้ำโขง ก็จำเป็นต้องมีการปักปันใหม่ให้ชัดเจน

“การจะเอาผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ ต้องเข้าองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1.ต้องพิสูจน์ว่าโครงการนั้นลาวเป็นผู้ให้สัมปทานแก่บริษัทจีน ถือเป็นการกระทำของรัฐบาลลาว 2.ลาวมีหน้าที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศถือเป็นอธิปไตยของลาว แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บูรณะภาพของประเทศเพื่อนบ้าน 3.ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการสร้างเขื่อนสานะคามหรือไม่ ถ้าครบองค์ประกอบ 3 ข้อ ลาวต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ตามหลักกฎหมาย MCR ปี 2538 โดยผู้ละเมิดต้องทำให้สภาพแวดล้อมกลับสู่สภาพเดิม หรือเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น” ตัวแทนกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศกล่าว

ผู้แทนกรมแผนที่ทหารกรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยึดถือร่องน้ำลึกเป็นเขตแดน โดยการปักปันเขตแดนไทย-ลาว อยู่ระหว่างการจัดทำหลักการสำรวจและจัดทำการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนร่วมกันของ 2 ประเทศ หรือคือปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจและปักปันเขตแดนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองร่วมกัน ส่วนผลการตรวจสอบจุดก่อสร้างเขื่อนสานะคาม อาจจะเกิดผลกระทบต่อเขตแดนและตลิ่งฝ่ายไทย เพราะกระแสน้ำจะส่งผลต่อแนวร่องน้ำลึกที่ไทยยึดถือ ควรมีการตรวจสอบจากหน่วนงานที่มีความเชี่ยวชาญถึงผลกระทบจากกระแสน้ำเพื่อมีข้อมูลชัดเจนต่อการปักปันเขตแดน

ขณะที่หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า จากการลงสำรวจแม่น้ำโขงตั้งแต่ อ.ปากชม จนถึง อ.เชียงคาน จะพบว่าแทบไม่พบต้นไคร้ที่เป็นพืชยึดเกาะตลิ่งและดอนทราย และแหล่งอาศัยของปลา แต่กลับพบต้นเลาและไมยลาบยักษ์ที่เป็นพืชคุกคามขึ้นแทนที่ โดยเป็นผลจากกระแสน้ำมีความรุนแรงขึ้นลงผิดปกติ และการหายไปของตะกอนดินช่วยยึดเกาะรากพืชและแหล่งอาหารของปลาที่ไม่มีการพัดพาลงมาหลังจากมีเขื่อนกั้น ซึ่งแตกต่างจากแม่น้ำสาละวินที่จะพบต้นไคร้อยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงจนไม่อาจเป็นแห่งอาศัยและไม่มีแหล่งอาหารสำหรับปลาอีกแล้ว

หาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ตนต้องการสอบถามความคืบหน้ากรณีเขื่อนปากชม ที่ล่าสุดถูกเปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ชื่อโครงการเก่าเมื่อ 60 ปีก่อนเป็นชื่อเขื่อนผามอง ว่าสถานะของโครงการเป็นอย่างไร ถ้าจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า อีกทั้งกรณีเขื่อนสานะคามและเขื่อนบ้านกุ่ม(ปากชม) จะใช้รายงาน EIA -ของประเทศไหน เพราะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งต้องทำการศึกษาตลอดแนวของแม่น้ำโขงที่ยาวมาก

ตัวแทนกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาฯไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ไม่ได้มีหน้าที่สำรวจล่องน้ำ ไม่ได้ทำเรื่องการปักปันเขตแดน และไม่มีผู้เชียงชาญเฉพาะทางในการศึกษาผลกระทบจากกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง แต่มีหน้าที่ป้องกันตลิ่งพังโดยงานก่อสร้างโครงสร้างทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นแม้มีการก่อสร้างเขื่อนในจีนและลาว แต่กรมไม่มีข้อมูลสถิติการกัดเซาะของแม่น้ำโขง ส่วนการป้องกันนั้น กรมโยธาฯ ได้เริ่มทำเขื่อนป้องกันตลิ่งพังตลอดแนวที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมดในปี 2570 โดยงบประมาณก่อสร้างเฉลี่ยเมตรละ 1 แสนบาท หรือกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท เพื่อป้องกันการสูญเสียดินแดนให้กับกระแสน้ำ โดยมองว่าคุ้มค่าต่อการรักษาดินแดนของประเทศไทยเอาไว้ได้

ผู้แทนกรมประมง กล่าวว่า ในรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ของโครงการ รายงานข้อมูลว่า พบพันธุ์ปลาเพียง 50 ชนิด และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ขณะที่กรมประมงจะแบ่งปลาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ปลาขาวที่อพยพทางไกล 2.กลุ่มอพยพสั้นในลุ่มน้ำสาขาและปากแม่น้ำ 3.ปลาดำจากหนองบึง ที่เวลาฝนตกจะว่ายออกไปน้ำกระแสน้ำเอ่อจากหนองบึงไปที่ปากแม่น้ำสาขา โดยกลุ่มปลาขาวคือปลาเศรษฐกิจ หากมีการสร้างเขื่อนสานะคามปลาจะถูกตัดขาดเส้นทางไม่สามารถอพยพไปได้แม้ว่ามีทางผ่านปลาของเขื่อนก็ตาม ซึ่งจากข้อมูลไม่อาจเชื่อว่าจะสามารถบรรเทาผลกระทบได้ จึงมีความเห็นตอบกลับไปให้ลาวว่าให้มีการศึกษาและข้อมูล และมาตรการที่จะลดผลกระทบที่เหมาะสม

“แม้ยังไม่ได้สร้างเขื่อนสานะคาม แต่ผลกระทบของไซยะบุรีได้เกิดขึ้นแล้ว ปลาเมื่อมีการเปลี่ยนระดับน้ำขึ้นลงไม่เป็นเวลา น้ำมามากมาเร็วในหน้าแล้งผิดฤดูกาล ปลาก็พยายามออกไข่และรวมฝูงเพื่อผสมพันธุ์ แต่พอน้ำมาแรงและลดลงในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ไข่ปลาฝ่อ เป็นความเสี่ยงอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ในอนาคต” ผู้แทนกรมประมง กล่าว

ไพศาล สอนเสียง ผู้ใหญ่บ้านท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าว่า ชาวบ้านต้องการรู้ว่าเขตแดนไทย-ลาวบนแม่น้ำเหืองอยู่จุดไหนกันแน่ เพราะล่องน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่กังวลคือเรื่องน้ำท่วม เพราะนับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาวน้ำที่ไหลหลากลงมาทำให้ตลิ่งพังทุกปี และถึงตอนนี้ชาวบ้านไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าการก่อสร้างเขื่อนสานะคามที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปแบบไหน

ชัยวัฒน์ พาระคุณ ตัวแทนชาวประมงริมโขง จ.หนองคาย กล่าว่า หลังการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ส่งผลกระทบทำให้ตลิ่งพังเสียหายอย่างรุนแรง บางรายสูญเสียเสียที่ดินจากการกัดเซาะ 7-8 ไร่ บางรายเสียที่ดิน นส.3ก รวมไปถึงที่ดินทำกินที่ยังไมีมีเอกสารสิทธิ์ หากปล่อยไว้ในอนาคตบ้านเรือนประชาชนก็ต้องหายไป เพราะบางจุดกัดเซาะเข้ามาเหลือระยะเพียง 3 เมตรจะถึงตัวบ้านแล้ว

อำนาจ ไตรจักร ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดอีสาน กล่าวว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือระดับน้ำโขงมีการขึ้นลงหลายเมตรภายใน 1 วัน ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากที่นครพนมตอนนี้ ชาวบ้านกังวลว่าระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงนี้ จะสามารถไหลเรือไฟตามประเพณีได้หรือไม่ ชาวบ้านในเครือข่ายทั้ง 7 จังหวัด ต้องคอยอัพเดทระดับน้ำแจ้งข้อมูลกันเองเพื่อให้พี่น้องที่อู่ริมน้ำรู้ทันสถานการณ์ ส่วนพี่น้องที่ทำการเกษตรริมโขง ความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำนับตั้งแต่มีเขื่อนไซยะบุรี เช่น แม่ยายของตนเคยมีที่ดินที่มีโฉนดริมน้ำโขง 2 ไร่ ตอนนี้ถูกกัดเซาะเหลืออยู่เพียง 2 งาน นี่คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่นครพนมซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีนับพันกิโลเมตร

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่