ทั้งยังมีประสานเสียงไม่ตัดสิทธิ์คนรวย คนไทยทุกคนที่อายุครบ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับกันถ้วนหน้า แม้จะมีความห่วงใย แสดงความไม่เห็นด้วยของนักเศรษฐศาสตร์ 99 คน ที่เรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวน หรือเปลี่ยนเป็นแจกเฉพาะกลุ่ม
แต่ยังเห็นความมุ่งมั่นพยายามที่จะให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ออกมาขานรับและส่งเสียงสนับสนุน เห็นได้ชัดเมื่อนายเศรษฐาเดินทางไปดูสถานการณ์น้ำที่ จ.พิษณุโลก มีคำพูดเสียงดังฟังชัดจากปากนายกฯ ว่า อย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผล มายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบขอให้ประชาชนพูด และให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง
ตีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการปลุกเร้ามวลชนให้ออกมาแสดงพลังยืนเคียงข้างหนุนการเดินหน้าโครงการนี้ของรัฐบาล สู้กับแรงกดดันและการเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ในโครงการนี้ มากถึง 5.6 แสนล้านบาท
เป็นไปได้ว่า เหตุผลประการหนึ่ง เนื่องจากรัฐบาลเกรงจะถูกกล่าวหา หรือมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตอกย้ำว่า จุดยืนไม่มั่นคง ชอบกลับไปกลับมา และเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทย ต้องสูญเสียไปไม่น้อย
ตั้งแต่สลัดมือจากพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเอง ก่อนไปดึงเอาพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิมมาร่วมตั้งรัฐบาล ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศบนเวทีหาเสียงไว้ว่า จะไม่ร่วมมือทางการเมืองด้วย
แต่ถึงแม้จะยืนยันเดินหน้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลมีเวลาเหลือเพียง 3 เดือนครึ่งเท่านั้น หากนับถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า แต่ในแง่ความชัดเจนของโครงการยังคงเป็นนามธรรมที่จับต้องยังไม่ได้
แม้ว่า นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งต่อไปยังศาลปกครองหรือรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง เพื่อวินิจฉัยว่า โครงการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังของประเทศหรือไม่
โดยนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยอมรับว่า ต้องรอหาข้อเท็จจริงเสียก่อน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติโครงการนี้
ประเด็นสำคัญที่สุด คือที่มาของแหล่งเงินที่จะใช้ แม้นายเศรษฐา เคยขอเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่ 15 ก.ย.แล้วว่า จะแจ้งแหล่งที่มาของเงินให้ทราบ แต่เลยเวลาครบ 1 เดือนไปแล้ว ก็ยังไม่ได้เฉลยอย่างที่รับปากไว้
ล่าสุด มีเพียง “หมอมิงค์” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาพูดถึงแหล่งที่มาของเงิน อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า มี 3 ทางเลือก อาจใช้ทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทางผสมกัน
คือ 1.ใช้จากงบประมาณปี 2567 โดยขอลดบประมาณจากบางหน่วย อาทิ เลื่อนการจัดซื้อรายการใหญ่ ๆ หรือชะลอการสร้างอาคารใหม่ของส่วนราชการออกไป
2.ใช้เงินนอกงบประมาณ คือให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน แล้วรัฐบาลค่อยจัดหาแหล่งเงินทุนคืนให้ ทางเลือกนี้ รัฐบาลอาจหาได้ 200,000-300,000 ล้านบาท แต่ต้องขยายเพดานหนี้ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561
และ 3.กู้เงินโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ชอบใช้ กระทั่งจะต้องขยายเพดานเงินกู้หรือหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60 เปอร์เซ็นต์เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นพ.พรหมมินทร์ ระบุว่า ยังไม่ได้ดูช่องทางที่ 3 คือกู้เงินโดยตรง แม้ว่าเมื่อเพดานเงินกู้เพิ่มเป็น 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว รัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้อีก 1.7 ล้านล้านบาท อาจจะขยาด ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่เก่งแต่กู้ เพราะคนกู้ไม่ได้ใช้คืน และคนใช้คืนไม่ใช่คนกู้
หากพิจารณาจากทางเลือกแรก คือ ใช้งบปี 2567 ตัดทอนจากหน่วยงานราชการอื่น ๆ แต่ปัญหาใหญ่ คือด้วยเงื่อนเวลาที่เหลือ 3 เดือนครึ่ง จะใช้วิธีการพิเศษอย่างไร ก็ไม่ทัน
เพราะกว่าสำนักงบจะจัดทำ ส่งต่อให้รัฐบาล แต่กว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ จะเข้าสู่วาระ 1 เดือนธันวาคม 2566 กว่าจะผ่านขั้นตอนรัฐสภาเสร็จสิ้น น่าจะเป็นช่วงเดือนเมษายน 67 ถึงอย่างไรก็ไม่ทัน 1 ก.พ.
แม้จะมีเปิดช่องให้ใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน แต่ต้องเป็นโครงการเดิม ไม่ใช่โครงการใหม่ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้น แหล่งเงินที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือเงินนอกงบประมาณ อาทิ จากรัฐวิสาหกิจ หรือกองทุนส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับกระแสข่าววงในที่แว่วๆมาก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะมีเซอร์ไพรส์ คือจะไม่ใช่การกู้ แต่จะเป็นการยืมเงินแทน
นพ.พรหมินทร์ ยกตัวอย่างว่า ในอดีตรัฐบาลเคยใช้เงินจากธนาคารออมสิน 7.7 หมื่นล้าน ไปใช้ทำเป็นกองทุนหมู่บ้าน แล้วค่อยตั้งงบประมาณใช้หนี้คืน ปีละ 1 หมื่นล้านบาท และทำได้สำเร็จมาแล้ว
เท่ากับแหล่งที่มาของเงิน น่าจะมาจากการยืมเงินนอกประมาณ แล้วค่อยใช้คืน แต่อาจผสมทางเลือกอื่นบ้าง ขึ้นอยู่กับจังหวะ สถานการณ์ และความเหมาะสม
ประชาชนที่เฝ้ารอคอย ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท สบายใจได้ มีเฮแน่นอน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา