หน้าแรก Voice TV ทายาท 'ชิต สิงหเสนี' ยื่นศาลรื้อคดีสวรรคต หวังคืนความเป็นธรรม

ทายาท 'ชิต สิงหเสนี' ยื่นศาลรื้อคดีสวรรคต หวังคืนความเป็นธรรม

138
0
ทายาท-'ชิต-สิงหเสนี'-ยื่นศาลรื้อคดีสวรรคต-หวังคืนความเป็นธรรม

ผู้รับมอบอำนาจญาติ ‘ชิต สิงหเสนี’ หวังใช้ช่องทางกฎหมาย ฟื้นคดีสวรรคต ร.8 คืนความเป็นธรรมให้เหยื่อทั้งสาม

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ในฐานะตัวแทนทายาท ‘ชิต สิงหเสนี’ และ ‘กังวาฬ พุทธิวนิช’ ผู้เขียนหนังสือ 74 ปี คดีสวรรคต ผู้รับมอบอำนาจญาติชิต สิงหเสนี ร่วมกันแถลงข่าวการยื่นคำร้อง รื้อฟื้นคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยใช้ช่องทาง พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญา พ.ศ. 2526 ที่มูลนิธิซิเนม่า โอเอซิส สุขุมวิท กทม. โดยมี นพ.กฤติน มีวุฒิสม ผู้ชำนาญการด้านนิติเวช ร่วมให้ความเห็นทางนิติเวชในปัจจุบัน

สมานรัชฏ์ กล่าวเปิดงานว่าเรื่องนี้คือความเจ็บปวดของคนตระกูลสิงหเสนี ที่ถูกตีตราว่ามีส่วนในการประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 หลายครั้งเรื่องดังกล่าวมักถูกนำไปขยายผลเป็นเกมทางการเมือง จึงอยากให้เรื่องนี้ถูกสะสางความจริงเสียที

“ดิฉันถือว่าเรื่องนี้มันคือคำสาปของแผ่นดิน ถ้าเราไม่ล้างประวัติศาสตร์เราก็จะไม่สามารถหลุดพ้นจากเผด็จการทางจิตวิญญานได้”

ซึ่งในระหว่างการแถลงข่าว พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้ยกมือขอเห็นค้าน ทำให้ทั้งฝ่ายโต้เถียงกันโดยต่างฝ่ายต่างอ้างข้อมูล ทำให้กังวาฬได้ขอให้ทั้งสองยุติการโต้เถียงกัน

ก่อนที่ ‘กังวาฬ’ จะเริ่มแถลงด้วยการเปิดคลิปวีดีโอในการสัมภาษณ์ ‘ผ่องพรรณ สิงหเสนี’ บุตรสาว ‘ชิต สิงหเสนี’ โดยมีถ้อยคำความว่า อยากให้รื้อฟื้นคดีนี้ เพื่อคืนความบริสุทธิ์แก่พ่อที่ถูกประหารชีวิต ซึ่งผ่านมาแล้ว 77 ปี ก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม

สำหรับเจตนารมณ์ในการรื้อฟื้นคดี กังวาฬ ระบุว่าเป็นการคืนความเป็นธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ทั้ง ชิต, บุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กหน้าห้องบรรทมและเฉลียว ปทุมรส ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการประทุษร้ายต่อในหลวง ร.8 และต้องการให้ยุติการใช้คดีสวรรคต เพื่อหวังผลทางการเมือง และสร้างความเข้าใจไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

ที่ผ่านมาคดีสวรรคต ร.8 หลังมีการประหารชีวิตชิต บุศย์ เฉลียว กังวาฬ ระบุว่ามีความพยายามที่จะรื้อฟื้นคดีอย่างน้อย 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2499, 2500, 2503-2507, 2510-2525, 2526 ซึ่งในปี 2526 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญา แต่ก็ไม่มีใครยื่นขอรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่จนถึงปัจจุบันที่ตนได้ยื่นต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

ต่อมา กังวาฬ เล่าถึงการหาพยานหลักฐานใหม่ที่จะถูกใช้ในการรื้อฟื้นคดีใหม่ ซึ่งเขายกตัวอย่างอาทิ ตำแหน่งรอยกดกระสุนปืนที่หน้าผาก ที่มีลักษณะบาดแผลฉีกขาด และรอยฟกช้ำ ซึ่งในทางนิติเวชชี้ว่าการประทับปากกระบอกปืนยิงประชิดผิวหนังมักพบในกรณียิงตัวเอง และวิถีกระสุนเข้า-ออก ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการถูกยิงเข้าด้านหน้าออกด้านหลัง ไม่ใช่การยิงจากท้ายถอยทะลุหน้าผาก ตามที่คณะแพทย์ในอดีตได้เปิดเผยผลชันสูตร จึงเห็นว่าไม่ควรตัดประเด็นการกระทำด้วยตนเองออกไป

ด้าน นพ.กฤติน ได้ร่วมให้ความเห็นว่ากระดุมเม็ดแรกที่เกิดความวุ่นวายคือคณะแพทย์ ในการชันสูตรพระบรมศพ ซึ่งมีความเข้าใจว่าบาดแผลทางเข้ามาจากด้านหลังทะลุออกด้านหน้า ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการปลงพระชนม์ทางด้านหลังทันที

“ดูลักษณะของการกระจายตัว สรุปได้ว่าเป็นระยะประชิดติดผิวหนัง ในทางนิติเวชปัจจุบันพบในการกระทำตัวเองถึง 94 %”

โดยในช่วงท้ายของงานแถลงข่าว กังวาฬ ระบุว่าการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ญาติทั้งสามคนที่ถูกประหารนั้น เพื่อที่จะชำระคดีประวัติศาสตร์ และคืนความบริสุทธิ์

“ใครจะมองผมว่าหิวแสงก็ว่าไป แต่ผมเชื่อในสิ่งที่สำคัญสำหรับการรื้อฟื้นคดีนี้ มันคือการจะได้มาของแสงแห่งความยุติธรรม” กังวาฬ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่