หน้าแรก Thai PBS ยกระดับ “กอ.รมน.” หัวใจงานด้านความมั่นคง

ยกระดับ “กอ.รมน.” หัวใจงานด้านความมั่นคง

68
0
ยกระดับ-“กอรมน.”-หัวใจงานด้านความมั่นคง

การเสนอยุบ กอ.รมน.ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน.ในหลายรัฐบาล แต่ยังมีภาพจำเดิมคือ งานความมั่นคงภายใน งานป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมตั้งแต่ก่อตั้ง กอ.รมน. (กอ.ปค.)เมื่อ 50 ปีก่อน   

ร.ศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ออนไลน์ หลังพรรคก้าวไกลมีแนวคิดเสนอให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. …อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น

ร.ศ.ดร.ปณิธาน บอกว่า การยุบ กอ.รมน.สามารถทำได้ แต่ก็มีคำถามว่า หากยุบ กอ.รมน.แล้ว ภารกิจหน้าที่ในการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์รวมจะมีหน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบ เพราะปัญหาต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งงานด้านความมั่นคงมีหลายมิติ ทั้งปัญหาที่ดิน แรงงาน ยาเสพติด ประมงฯลฯ 

ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทย ซึ่งงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้ประสานงาน และมีเจ้าภาพเพื่อเดินหน้าต่อ เพราะลำพังหน่วยงานปกติอาจไม่สะดวกนัก ดังนั้นกอ.รมน.จึงเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องหลายกระทรวงหลายหน่วยงาน เช่น แรงงาน ประมง การต่างประเทศ

หัวใจ ของ กอ.รมน.คือการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งนี่คือ ข้อเสียในการยุบ กอ.รมน.ว่า จะแก้ไขปัญหาการประสานงานภาพรวมนี้อย่างไร โดยเฉพาะการประสานงานในองค์รวม ขณะที่ข้อดีของการยุบ กอ.รมน.คือ ประหยัดงบประมาณ

ปรับโครงสร้าง – คอนเซปต์ ดึงคนเก่งทำงาน

อย่างไรก็ตามการที่จะยุบ กอ.รมน.หรือไม่นั้น อาจต้องคำนึงถึงงานของ กอ.รมน. โดยเฉพาะภัยคุกคามสมัยใหม่ ซึ่งร.ศ.ดร.ปณิธาน เห็นว่า ควรที่จะปรับโครงการสร้างของ กอ.รมน.ให้ยังคงสามารถดำเนินการได้ ขณะที่ภารกิจความมั่นคงอื่น ๆ ทั้งปัญหาที่ดิน แรงงาน หรือการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังคงให้เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ควบคู่ไปกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมถึงรวม ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล) มารวมกัน เพราะเป็นงานด้านความมั่นคงทางทะเล  

ปัญหาที่ดินในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานปกติอาจทำงานลำบาก การมี กอ.รมน.ทำหน้าที่จะช่วยได้ เพราะการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องทำ 

ประเด็นสำคัญคือ อยากเสนอให้มีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน.โดยดึงผู้เชี่ยวชาญมาทำงาน โดยให้พลเรือนเป็นหลักจากโครงสร้างเดิมที่ทหารเป็น ผอ.รมน. ขณะที่นายทหารที่เข้ามาทำงานให้โอนขาดจากหน่วยงานเดิม เพิ่มฐานเงินเดือนเพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ หรือ บุคลากรที่มีคุณภาพให้มาทำงาน กับ กอ.รมน.ซึ่งยังคงขึ้นตรงกับ สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ นายกฯ เพื่อสามารถสั่งการได้ทันที

นอกจากนี้ควรเปลี่ยนแนวคิด และเปลี่ยนชื่อ กอ.รมน .ด้วย แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับการทำงานของ กอ.รมน. มาโดยตลอดในหลายรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน แต่บางส่วนยังคงจดจำภารกิจและแนวคิดเดิม เช่นการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งงานด้านความมั่นคงภายในส่วนนี้ เช่น คอมมิวนิสต์ หรือผู้มีความเห็นต่าง หรือ กรณี 112 ก็สามารถให้ภารกิจนี้ไปยังหน่วยงานปกติในการดำเนินการ

ร.ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เช่น อาจใช้ชื่อ ทบวงความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งบทบาทอาจจะเทียบเคียงกับ “ทบวงมาตุภูมิ” ของสหรัฐฯ แต่ของสหรัฐฯจะมีขนาดและโครงสร้างที่ใหญ่กว่า ซึ่งของไทยไม่จำเป็นต้องมีขนาดที่ใหญ่ขนาดนั้น และทำเฉพาะด้านความมั่นคงของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบอย่างมาก เช่น กรณีของแรงงานไทยในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงระหว่างอิสราเอลและฮามาส 

หากมีหน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงและประสานงานภาพรวมโดยตรง อาจจะไม่ต้องรอ กระทรวงแรงงาน กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ แต่อาจจะมีเครื่องบินของหน่วยงานนี้บินไปรับแรงงานไทยทันที เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

เสนอยุบกอ.รมน.เชื่อเกิดจากบาดแผลเดิม

อย่างไรก็ตาม หากบางประเทศก็จะมีการตั้งคณะประสานงานเพื่อมาทำงานด้านความมั่นคงโดยตรง เช่น กรณีประเทศออสเตรเลีย มีศูนย์คณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้าย ที่ดูแลงานด้านนี้โดยตรง แต่ในไทยปัญหาด้านความมั่นคงมีหลายด้านจึงยังคงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ดูแลในภาพรวม 

ร.ศ.ดร.ปณิธาน ย้ำว่า จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ประสานงานตรงกลางนี้ และงานด้านความมั่นคงภายใน ซึ่งเข้าใจว่าผู้ที่เสนอยุบ กอ.รมน.อาจมาจากเรื่องของ งานด้านความมั่นคงภายในที่ส่งผลกระทบหรือเป็นบาดแผล ซึ่งงานในส่วนนี้เป็นงานบางส่วนของ กอ.รมน.เท่านั้น เพราะยังมีงานด้านอื่น ๆ อีกมาก

รวมทั้งการใช้งบประมาณ ก็สามารถลดขนาด กอ.รมน. ให้กระชับลง แต่สามารถทำงานได้ เพราะหัวใจของ กอ.รมน.หรือการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ หากยุบเลิกไปจะมีช่องโหว่ในส่วนนี้ ซึ่งแนวคิดการยุบ กอ.รมน.ก็ยังไม่มีโครงสร้างใหม่หรือรูปแบบที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

จับกระแสการเมือง 1 พ.ย.2566 “เศรษฐา” คืนดาบกองทัพ ไม่ยุบ กอ.รมน.  

เปิดงบ “กอ.รมน.” 10 ปี ตั้งแต่ 2556-2566 ใช้แล้วกว่าแสนล้านบาท  

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่