หน้าแรก Voice TV 'รอมฎอน' เผยหลังคุย 'สมศักดิ์' ปมขัดแย้งใต้ สานต่อพูดคุย 'BRN-รัฐบาล'

'รอมฎอน' เผยหลังคุย 'สมศักดิ์' ปมขัดแย้งใต้ สานต่อพูดคุย 'BRN-รัฐบาล'

80
0
'รอมฎอน'-เผยหลังคุย-'สมศักดิ์'-ปมขัดแย้งใต้-สานต่อพูดคุย-'brn-รัฐบาล'

21 พ.ย. 2566 รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส. บัญชีร่ยขชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน ออกตัวเบา ๆ ว่าตนเปรียบเป็นพระบวชใหม่ ในภารกิจรับมือปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ วันนี้ กมธ.สันติภาพได้รับเชิญจากแกมาแลกเปลี่ยนทัศนะที่ ทำเนียบรัฐบาล เราได้รับแจ้งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ การพูดคุยสันติภาพ ว่านายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นชอบเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยที่จะมี การสานต่อจากสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการมา หลังจากที่ทาง สมช.ได้บรีฟสรุปไปก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนตุลาฯ เท่ากับว่าความเห็นพ้องระหว่างทีมรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นที่บันทึกเอาไว้ในเอกสาร General Principle on Peace Dialogue Process (ลงนาม 31 มีนาคม 2565) ได้รับการยืนยันและรับรองจากรัฐบาลใหม่แล้ว

ส่วนคณะพูดคุยและโครงสร้างกลไกการพูดคุยจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือน่าจะหลังจากการเยือนมาเลเซียในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ครับ เรา ๆ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

กลไกการพูดคุยใหม่ในฝั่งรัฐบาลไทยจะรองรับด้วย คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนคำสั่งฯ เดิมที่ยกเลิกไปพร้อมกับรัฐบาลก่อน โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้จะยึดโยงกับกลไกภายใน สมช. เองที่ชื่อ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คยศ.จชต.) ที่มีเลขาธิการ สมช. เป็นประธาน โดยที่ถ้าฟังไม่ผิด จะมี สภา มช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ที่มีนายกฯ เป็นประธานและมีรัฐมนตรี 7-8 กระทรวงเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในลักษณะกลไกกำกับทิศทางการพูดคุย (steering committee)

ทั้งหมดนี้ แม่งานหลักของงานพูดคุยสันติภาพจะยังคงอยู่ที่ สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) หนึ่งในเรื่องที่น่าจะยังไม่ลงตัวก็คือ หน่วยแนวหน้า ที่จะต้องทำหน้างานกับภาคประชาสังคมและประชาชน ที่ผู้แทนจาก สมช.ระบุในวงประชุมว่าน่าจะต้องเป็นหน่วยงานทางสังคมและการพัฒนา

หากเป็นเช่นนั้น ชะตากรรมของงานประสานงานในพื้นที่อาจเปลี่ยนโฉมไป ในยุครัฐบาลหลังรัฐประหารและรัฐบาลประยุทธ์ งานนี้เดิมทีอยู่ในมือของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเข้ามามีส่วนใน งานการเมือง นี้อย่างสำคัญ หลายคนรู้จักกันในชื่อ “สล.3” นั่นเอง บทบาทของกองทัพและ กอ.รมน.ในงานสันติภาพนั้นน่าสนใจ เพราะหากพวกเขาไม่มีส่วนเลย ก็มีความเสี่ยงที่จะสปอยล์ กระบวนการที่หลายฝ่ายกำลังทำกันอยู่ แต่หากให้บทบาทมากเกินไปก็อาจสร้างปัญหาความเชื่อมั่น เพราะการใช้กรอบคิดแบบทหารทำงานการเมืองที่ต้องละเมียดละไมอาจส่งผลด้านกลับ

น่าติดตามว่าตกลงแล้ว กอ.รมน. กำลังจะถูกลดบทบาทลงหรือไม่? แล้วพวกเขาจะอยู่ตรงไหนใน กระบวนการสันติภาพ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลใหม่

มีหลายเรื่องที่ต้องอัพเดทครับ โดยเฉพาะอนาคตของ กระบวนการสันติภาพ ในรัฐบาลชุดนี้

หมายเหตุ: ความรู้พื้นฐานสำหรับการติดตามเรื่องนี้ก็คือ สภา มช. กับ สมช. เป็นคนละอันกันนะครับ สภา มช. เป็นองค์กรตัดสินใจในทางนโยบาย มีนายกฯ เป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วน สมช. เป็นหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่เหมือนกองเลขาฯ ของที่ประชุมสภาฯ แห่งนี้ครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่