หน้าแรก Thai PBS สายตรงตระกูลชิน “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

สายตรงตระกูลชิน “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

87
0
สายตรงตระกูลชิน-“ปู-ยิ่งลักษณ์-ชินวัตร”

ลูกสิงห์ขาว รัฐศาสตร์ มช. “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เกิดและเติบโตในตัวอำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ หลังจากเรียนจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต สหรัฐอเมริกา “ปู” กลับมารับตำแหน่งประธานบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 

หลังปี 2551 “พรรคพลังประชาชน” ถูกยุบ สส.และสมาชิกพรรคจำนวนมากย้ายเข้าสังกัด “พรรคเพื่อไทย” ในขณะนั้น “ยิ่งลักษณ์” ถือก็เป็นตัวแทนตระกูลชินวัตร ที่ต้องหักเหจากชีวิตนักธุรกิจสาวเข้าสู่วงการเมือง โดย “ทักษิณ” ต้องการให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธมาตลอด เนื่องจากเจ้าตัวไม่เคยต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี และสนใจจะทำแต่ธุรกิจเท่านั้น

แม้ที่ผ่านมาสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะได้เห็นการปรากฏตัวของ “ยิ่งลักษณ์” เฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเป็นครั้งคราว เมื่อพรรคส่งจดหมายเชิญเท่านั้น แต่เมื่อไม่มีตัวเลือกที่ดีและเหมาะสมกว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงตกเป็นของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” แทน ต่อมาในปี 2553 ยงยุทธ วิชัยดิษฐ แสดงเจตจำนงจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวจะมีการเลือกตั้งอย่างกะทันหันในช่วงต้นปี 2554 ทำให้เกิดข้อโต้เถียงภายในพรรคเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ระหว่าง “ยิ่งลักษณ์ และ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” 

ทักษิณเคลม อดีตนายกฯ ปู “โคลนชินวัตร” 

ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2554 พรรคเพื่อไทยมีมติเลือก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกฯ ลงสนามเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.2554 อย่างไรก็ตามขณะนั้น ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นทั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค

สุดท้าย “พรรคเพื่อไทย” ก็ชนะการเลือกตั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย ถือเป็นผู้นำหญิงคนแรก และเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 60 ปี ด้วยอายุขณะรับตำแหน่ง 44 ปี ในขณะที่คู่ชิงอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังจากแพ้การเลือกตั้ง 

นักวิจารณ์ทางการเมือง ระบุว่า แม้ยิ่งลักษณ์จะขาดประสบการณ์ทางการเมือง แต่เหตุผลหลักที่ได้ตำแหน่งนายกฯ เพราะเป็น “น้องสาว” ของ ทักษิณ อดีตนายกฯ บทบาทหลักของยิ่งลักษณ์คือผนึกกำลังผู้ภักดีต่อทักษิณ และทำหน้าที่เป็นผู้แทน “ทักษิณ” ที่สั่งการจากโพ้นทะเล สอดคล้องกับที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

เธอเป็นโคลนของผม และ เธอสามารถตอบ ใช่ หรือ ไม่ ในนามของผมได้

“ยิ่งลักษณ์” จัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว โดยร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล  พรรคมหาชน และ พรรคประชาธิปไตยใหม่ รวมแล้ว 300 ที่นั่ง ยิ่งลักษณ์นั่งตำแหน่งนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม 

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า เขายอมรับผลการเลือกตั้งและหลังจากที่พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว จะไม่มีการแทรกแซงการเมือง ด้าน ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโดยปกติแล้วจะให้สัมภาษณ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ใดๆ

ศึกหนักหลังรับตำแหน่ง

ฝนที่เริ่มตกหนักทางภาคเหนือก่อนที่ “ยิ่งลักษณ์” เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เพียง 1 สัปดาห์ ทำให้เป็นภารกิจใหญ่หลวงภารกิจแรกกับตำแหน่ง นายกฯ หญิงคนแรกของไทย “มหาอุทกภัย 2554” มวลน้ำขนาดใหญ่จากภาคเหนือ ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางอย่างรวดเร็ว กระทั่งต้นเดือน ต.ค. พระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด อุทกภัยในครั้งนั้นนับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 50 ปี 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น และ ผู้นำทหาร เรียกร้องให้ “ยิ่งลักษณ์” ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจทหารในการช่วยรับมือกับปัญหา แต่ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธ โดยระบุว่าไม่ช่วยให้การจัดการอุทกภัยดีขึ้น และประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาล จัดการควบคุมอุทกภัยและการระบายน้ำแทน ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากเมื่อพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จะได้รับเงินและงบประมาณช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่นั้นๆ

ต่อมาในปี 2556 หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เตรียมผลักดันการออก พ.ร.บ.อภัยโทษหรือนิรโทษกรรม ที่เสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แม้ ร.ต.อ.เฉลิม จะบอกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้เอื้อต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ คนเดียว แต่ใช้ครอบคลุมทุกคน ก็ทำให้เกิดการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากประชาชนทั่วประเทศทันที และลามไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จนวันที่ 9 ธ.ค.2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แถลงการณ์ประกาศทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาขอยุบสภาผู้แทนราษฎร โดย ครม.จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ต่อมาวันที่ 7 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.

อ่าน : ยกฟ้อง-เพิกถอนหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” พ้นคดีเด้งเลขาฯ สมช.

“ทุจริตคดีจำนำข้าว” 2557

โครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา ให้นำผลผลิตมาแลกเป็นเงิน ความพิเศษคือไม่จำกัดโควตาและกำหนดราคาไว้สูงกว่าราคาตลาดมาก โครงการนี้ถูกระบุว่า เป็นการทำลายกลไกตลาดและส่งผลเสียต่อคุณภาพข้าว พร้อมมีรายงานอ้างมูลค่าการทุจริตที่คำนวณจากแบบจำลองตลาดข้าว คิดเป็น 84,476 ล้านบาท

อีกด้านหนึ่งนโยบายดังกล่าวเกิดการคาดการณ์ที่ผิดพลาด รัฐบาลอดีตนายกฯ ปู มองว่าเมื่อรับจำนำข้าวจากเกษตรกรแล้วจะสามารถระบายข้าวในตลาดโลกได้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถระบายข้าวได้ ผลทำให้มีข้าวคงค้างถึง 18 ล้านตัน เมื่อสิ้นโครงการปี 2557 และยังส่งผลทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลงเพราะต้นทุนสูงขึ้น

นโยบายนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมืองในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ.2556–2557 หลักจากประกาศยุบสภาฯ รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีสภาพเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ จึงไม่สามารถสร้างหนี้ที่จะผูกพันรัฐบาลต่อไปได้ ทำให้รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้และไม่สามารถโอนเงินให้แก่ผู้เดือดร้อนกว่า 1.3 แสนล้านบาท

ในคดีนี้มีผู้เกี่ยวข้อง ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากมีการขายข้าวผิดวัตถุประสงค์ “ยิ่งลักษณ์” เองก็ถูกศาลพิพากษาลับหลังให้จำคุก 5 ปี เนื่องจากปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต แต่ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ 35,000 ล้านบาท

อ่าน : “วิษณุ” ชี้ช่อง “ยิ่งลักษณ์” กลับประเทศไทยเป็นคิวต่อไป

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่