หน้าแรก Voice TV 'สมศักดิ์' ผุดโครงการ 'โคแสนล้าน' นโยบายแก้จน สร้างรายได้ใน 4 ปี

'สมศักดิ์' ผุดโครงการ 'โคแสนล้าน' นโยบายแก้จน สร้างรายได้ใน 4 ปี

81
0
'สมศักดิ์'-ผุดโครงการ-'โคแสนล้าน'-นโยบายแก้จน-สร้างรายได้ใน-4-ปี

‘สมศักดิ์’ ย้ำนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาความยากจน ผุดโครงการ ‘โคแสนล้าน’ เริ่มเลี้ยงจาก 2 เป็น 10 ตัว ต่อครัวเรือน สร้างรายได้ใน 4 ปี ขับเคลื่อน ‘ศอ.บต.’ ขานรับนโยบายนายกฯ พัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคง

วันที่ 3 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกองทุนหมู่บ้าน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ลุกขึ้นกล่าวชี้แจง

สมศักดิ์ ระบุว่า การแก้ปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีนโยบายสร้างรายได้ด้านเกษตรกรรม การประมง ปศุสัตว์ ภายใต้สโลแกน ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นความจริงที่สามารถทำได้

จากนั้น สมศักดิ์ ได้เปิดวีดิทัศน์ความยาวประมาณ 3 นาที นำเสนอการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียของนายกรัฐมนตรี และตนเอง ในการหารือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุน การพัฒนาพื้นที่ชายแดน ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านความมั่นคง

สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งกองทุนหมู่บ้าน และ ศอ.บต. พัฒนาและปรับเปลี่ยนองค์กรและงบประมาณ ให้สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดย ศอ.บต. ได้จัดงบประมาณปี 2567 เน้นความสงบสุข และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยงบประมาณ 590 ล้านบาท แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 444 ล้านบาท มุ่งเน้นจำนวนครัวเรือนยากจนให้น้อยลงในพื้นที่

ทั้งนี้ ยังผลักดันโครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ ภายใต้โครงการตำบล มั่งคั่ง ยั่งยืน ขับเคลื่อนพื้นที่สู่เมืองปศุสัตว์ เมืองผลไม้ ส่งเสริมสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่เป็น Soft Power ของพื้นที่ ให้ประชาชนเลี้ยงปูไข่ นกกรงหัวจุก วัว วัวพรีเมี่ยม ปลา ทุเรียน เป็นอาชีพเสริม

ในด้านกองทุนหมู่บ้านจะใช้งบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ในโครงการ ‘โคแสนล้าน’ โดยคาดว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในโครงการ จะมีรายได้ภายใน 4 ปี สนับสนุนให้เกษตรกรกู้ยืมครอบครัวละ 50,000 บาท เพื่อใช้เลี้ยงวัว ครอบครัวละ 2 ตัวเริ่มต้น และดำเนินการนำร่อง 500,000 ครัวเรือน

รวมถึงใช้นวัตกรรมเสริมให้วัวมีคุณภาพมาตรฐานสากล แข่งขันกับต่างประเทศได้ และเพิ่มรายได้โดยใช้งบประมาณที่น้อยมาก ภาครัฐจะสนับสนุน เรื่องดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย และในปีที่ 4 เกษตรกรจะมีโค 10 ตัว จากเริ่มต้น 2 ตัว ด้วยระบบการผสมเทียม หากโค 10 ตัว ตัวละ 25,000 บาท ก็เป็นเงิน 250,000 บาท เป็นรายได้ต่อครัวเรือนในระยะเวลา 4 ปี

สมศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ใช่ว่าจะต้องใช้งบประมาณมากเสมอไป ต้องอาศัยความจริงใจในการแก้ปัญหา ขอให้เชื่อมั่นในแนวทาง และนโยบายของนายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่